องค์ความรู้ที่ถูกต้อง แม่นยำ และการนำไปปรับใช้ นับเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องการทำการเกษตร
ปัจจุบันเกษตรกรยังประสบปัญหาต่างๆ เช่น ต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่ำ การปฏิบัติในสวนที่ไม่ถูกวิธี การขาดข้อมูลในการตัดสินใจ ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากเรื่ององค์ความรู้ ประเทศไทยเองไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรเพื่อปรับปรุงหรือยกระดับการผลิตให้สูงขึ้นเพื่อรองรับกับการตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่องค์ความรู้ในปัจจุบันนั้น มีข้อมูลทางวิชาการที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ไม่เป็นระบบ ส่งผลให้ผู้ทำหน้าที่ส่งเสริมองค์ความรู้ไม่มีหลักสูตรหรือชุดความรู้ที่เป็นระบบในการนำไปใช้ ส่วนเกษตรกรก็ไม่ได้รับความรู้ที่ต่อเนื่องและมองไม่เห็นประโยชน์ที่แท้จริงในการนำองค์ความรู้ไปใช้
โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เล็งเห็นว่าการมีองค์ความรู้ที่เป็นระบบจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและเข้าสู่ระบบมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนหรือ RSPO ได้
ด้วยเหตุนี้ทางโครงการฯ จึงร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร พัฒนาหลักสูตรสำหรับเกษตรกรรายย่อยเพื่อการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรรายย่อยผลิตปาล์มน้ำมันของไทย หรือเรียกสั้นๆ ว่า TOPSA (Thailand Oil Palm Smallholder Academy)
หลักสูตร TOPSA ได้พัฒนาขึ้น โดยคำนึงถึงมิติด้านการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและกระบวนการกลุ่มสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่อ้างอิงมาตรฐานของ RSPO ซึ่งประกอบด้วย 5 โมดูล ดังนี้
- มาตรฐาน RSPO หลักสูตรนี้เน้นเรื่องความเป็นมาของมาตรฐาน RSPO ว่าทำไมต้องมีการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรรายย่อยเมื่อปาล์มน้ำมันจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบมาตรฐานสากล นอกจากนั้นหลักสูตรนี้ยังรวมไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเป็นสมาชิกของ RSPO ในการสนับสนุนการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน
- การบริหารจัดการกลุ่ม หลักสูตรนี้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถทำงานในรูปแบบกลุ่ม มีระบบควบคุมภายในเข้ามาบริหารจัดการ การจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตปาล์มน้ำมัน เพื่อให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการที่แม่นยำ เกิดการช่วยเหลือและแก้ปัญหาด้วยกัน และยังช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นประโยชน์และความสำคัญในการทำงานร่วมกันมากขึ้น
- เกษตรกรรมหลักสูตรนี้เน้นเรื่องการปฏิบัติที่ดีในสวนปาล์มน้ำมัน การใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสมในสวนปาล์ม การดูแลและจัดการสวนอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการปฏิบัติในสวนปาล์มเพื่อให้ผลผลิตสูงขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
- สังคม เป็นหลักสูตรที่เน้นถึงการทำสวนปาล์มที่คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมให้น้อยที่สุด เช่น เรื่องการประเมินผลกระทบด้านสังคม และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำสวนปาล์มน้ำมัน
- สิ่งแวดล้อม หลักสูตรนี้เน้นถึงการทำสวนปาล์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการลดความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“ผมเคยสงสัยว่า น้ำมันปาล์มเอาไปทำอะไรได้บ้าง แต่ไม่เคยได้คำตอบ การจัดการสวนก็เช่นเดียวกัน ทำไปเรื่อย เก็บเกี่ยวผลผลิตไปโดยไม่คำนึงถึงปริมาณ คุณภาพ หรือสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด วันนี้ผมได้เรียนรู้ผ่านการฝึกอบรม เข้าใจแล้วว่าปาล์มน้ำมันนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าที่คิด การเป็นเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน หากไม่มีการจัดการที่ดีและถูกวิธี ก็ส่งผลกระทบต่อตัวเรารอบด้าน ไม่ว่าจะด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือสิ่งแวดล้อม เช่น ป่าไม้ แม่น้ำ สัตว์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพราะฉะนั้นการเป็น แบบอย่างที่ดีในการลงมือทำเพื่อการผลิตปาล์มน้ำมันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนได้นั้น ผมคิดว่าต้องมีการเชื่อมโยงและเดินไปด้วยกันทั้งระบบ ตอนนี้ผมได้มีโอกาสเป็นวิทยากรของโครงการฯ แล้ว และผมมองเห็นว่าหลักสูตรเกษตรกรรายย่อยผลิตปาล์มน้ำมันของไทย หรือ TOPSA เป็นสิ่งที่ดีมาก คิดว่ายังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ผมเองก็จะมีการฝึกและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ผมมั่นใจเต็มร้อยว่าหรือหลักสูตรนี้จะสามารถทำให้เกษตรกรไทยก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างแน่นอน” อาทร ช่างคำ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่
คุณสิทธิภาส อุดมผลกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียน ปาล์มน้ำมัน จำกัด
“เดิมทีที่ผ่านมาการฝึกอบรมมักจะถูกหยิบยกหรือนำเสนอประเด็นที่สนใจมาพูดคุยกันเพียงเท่านั้น ไม่มีขั้นตอน ไม่เป็นระบบ ไม่มีหลักสูตรที่เป็นชุดเอกสารที่ชัดเจน ทำให้การส่งเสริมหรือถ่ายทอดไปยังเกษตรกรทำได้ไม่ต่อเนื่อง ในส่วนของการถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นวิทยากร ผนวกกับหลักสูตร TOPSA คิดว่าน่าจะมีประโยชน์และสำคัญมาก เพราะ TOPSA จะเป็นตัวช่วยในการจัดกระบวนการอีกทั้งเกษตรกรถ่ายทอดกันเอง ใช้ภาษาเดียวกันน่าจะเข้าใจง่ายกว่าครับ ส่งผลกิจกรรมให้ไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจนและเร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน”