ความจริงอีกด้านของ ‘น้ำมันปาล์ม’

ภาพลักษณ์ของน้ำมันปาล์มในสายตาใครหลายคนนั้นไม่ต่างจาก “ผู้ร้าย” ที่บุกเข้ามาทำลายผืนป่า พรากชีวิตของสัตว์น้อยใหญ่ และบ้านของชนกลุ่มคนพื้นเมือง มิหนำซ้ำ น้ำมันปาล์มยังเป็นปัจจัยสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนปัญหามลพิษทางอากาศขั้นรุนแรง ซึ่งเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกต้นปาล์ม  ทำให้เกิดกระแสต่อต้านและการรณรงค์ให้เลิกใช้น้ำมันปาล์มขึ้น

แต่รู้ไหม .​ . น้ำมันปาล์มและการเพาะปลูกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นไปด้วยกันได้

สวนปาล์มในจังหวัดกระบี่ ประเทศไทย (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
สวนปาล์มในจังหวัดกระบี่ ประเทศไทย (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

กนกวรรณ ศาศวัตเตชะ ผู้จัดการโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมประจำประเทศไทย หรือ Sustainable and Climate-Friendly Palm Oil Production and Procurement (SCPOPP) in Thailand เล่าให้ฟังว่า ทำไมการผลิตน้ำมันปาล์มโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมถึงเป็นเรื่องที่ ‘เป็นไปได้’

กนกวรรณ ศาศวัตเตชะ ผู้จัดการโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมประจำประเทศไทย (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
กนกวรรณ ศาศวัตเตชะ ผู้จัดการโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมประจำประเทศไทย (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

“เราต้องยอมรับว่า การบุกรุกเพื่อปลูกปาล์มคือเรื่องจริง แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า พื้นที่ปลูกปาล์มไม่ได้มาจากผืนป่าทั้งหมด จึงไม่ควรเหมาเข่งว่าน้ำมันปาล์มทั้งหมดเป็นผู้ร้าย

กนกวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในความเป็นจริง ประเทศไทยมีระบบการปกป้องและอนุรักษ์ผืนป่าที่ดีและพื้นที่ปลูกปาล์มใหม่ส่วนใหญ่ในประเทศล้วนมากจากพื้นที่การเกษตรเดิม เช่น สวนยาพารา  สวนผลไม้  หรือนาข้าวร้าง ดังนั้น ปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อปลูกต้นปาล์มในเมืองไทยจึงแทบเป็นศูนย์

“การต่อต้านน้ำมันปาล์มโดยไม่รู้แน่ชัดว่าน้ำมันปาล์มเหล่านั้นมาจากผืนป่าจริงหรือไม่  ย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดีเพราะนั้นเท่ากับเป็นการตัดท่อรายได้ของเกษตรกรรายย่อยหลายแสนครัวเรือนในประเทศไทยที่ไม่ได้บุกรุกป่า”

น้ำมันปาล์มเป็นภัยคุกคามต่อธรรมชาติ .. จริงหรือ?

ปาล์มเป็นพืชผลสำคัญและเก่าแก่ มนุษย์ในอดีตใช้ผลปาล์มเพื่อสกัดน้ำมันมาปรุงอาหาร และนำใบของปาล์มไปจักสานทำสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่หลังคาบ้านไปจนถึงตะกร้า อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มพุ่งสูงขึ้นมาก ส่วนหนึ่งมาจากประโยชน์สารพัดและเนื้อสัมผัสแบบครีมของปาล์ม อีกส่วนหนึ่งมาจากการให้ผลผลิตของปาล์มซึ่งใช้พื้นที่แค่เกือบครึ่งหรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของพืชผลอื่น ๆ เพื่อผลิตน้ำมันปริมาณมากกว่า 6-10 เท่า เช่น ถั่วเหลือง เรปซีด เมล็ดดอกทานตะวัน มะพร้าว และมะกอก

รายงานบัญชีแดงขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่า อุรังอุตังทั้ง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ บอร์เนียว (Bornean), สุมาตรา (Sumatran) และทาปานูลี (Tapanuli) อยู่ในเกณฑ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง หลังได้รับผลกระทบจากการทำลายทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงการแผ้วถางป่าเพื่อเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน
รายงานบัญชีแดงขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่า อุรังอุตังทั้ง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ บอร์เนียว (Bornean), สุมาตรา (Sumatran) และทาปานูลี (Tapanuli) อยู่ในเกณฑ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง หลังได้รับผลกระทบจากการทำลายทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงการแผ้วถางป่าเพื่อเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน

แต่ในปัจจุบัน น้ำมันปาล์มกลับเป็นพืชที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเชื่อกันว่า พื้นที่ป่าฝนเขตร้อน ที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนพื้นเมือง และสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น เสือโคร่งและลิงอุรังอุตังในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ถูกคุกคามร้ายแรงจากการแผ้วถางป่าให้กลายเป็นสวนปาล์ม 

แต่กนกวรรณกลับเห็นต่าง โดยให้เหตุผลว่า การผลิตน้ำมันปาล์มที่เน้นเร่งผลผลิตอย่างเดียวจนขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมต่างหากที่เป็นต้นเหตุของการตัดไม้ทำลายป่า

“ป่าฝนเขตร้อนทุก ๆ แห่งนอกจากเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าแล้ว ยังมีบทบาททีสำคัญในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์และผลิตก๊าซออกซิเจน หรืออากาศบริสุทธิ์ให้กับพวกเรา”

เมื่อผู้ปลูกปาล์มละเลยการผลิตที่ยั่งยืน นั้นเท่ากับว่าพวกเขาทำลายบ้านของสัตว์ป่านานาชนิด ทำลายปอดของโลก  และเพิ่มปัญหาโลกร้อนแบบทวีคูณ

“หลังจากตัดต้นไม้ใหญ่ไปขายแล้ว ซากพืชที่เหลือจะถูกเผาทิ้งเพื่อเคลียร์พื้นที่ก่อนปลูกต้นปาล์ม ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน หรือฝุ่นที่ทำลายสุขภาพมนุษย์เราตามมา” 

การปลูกปาล์มที่ไม่ทำลายผืนป่า

สวนปาล์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานขององค์กรสนับสนุนการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน หรือ อาร์เอสพีโอ (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO) จะไม่สามารถแผ้วถางป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ (เช่น ชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์) หรือระบบนิเวศที่เปราะบางได้ ผู้ปลูกปาล์มที่ได้รับการรับรองจะต้องดำเนินมาตรการเพื่อลดการกัดเซาะหน้าดินให้น้อยที่สุดและปกป้องแหล่งน้ำ

นอกจากความห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ปลูกปาล์มต้องใส่ใจประเด็นสิทธิมนุษยชน เช่น การจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ การไม่ใช่แรงงานเด็ก และการได้รับความยินยอมจากชุมชนท้องถิ่นล่วงหน้าโดยชุมชนท้องถิ่นจะยังมีอิสระและได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนรอบด้าน

กนกวรรณ ศาศวัตเตชะ พูดถึงความรู้สึกต่อการฝึกอบรมทักษะวิทยากรให้กับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2562 (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
กนกวรรณ ศาศวัตเตชะ พูดถึงความรู้สึกต่อการฝึกอบรมทักษะวิทยากรให้กับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2562 (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีภาพลักษณ์การผลิตน้ำมันปาล์มที่ดี  ไม่มีปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าหรือป่าพรุรุนแรง  แต่ถ้าคนไทยยังคงนิ่งเฉย ไม่สนับสนุนน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนตอนนี้  ประเทศไทยอาจมีภาพลักษณ์ที่แย่เหมือนประเทศอินโดนีเซียหรือมาเลเซียก็ได้” 

ทุกวันนี้ น้ำมันปาล์มที่ผลิตตามมาตรฐาน RSPO ทั่วโลกมีสัดส่วนเพียงแค่ร้อยละ 19 เท่านั้น ในขณะที่ประเทศไทยมีเกษตรกรที่สามารถปลูกปาล์มยั่งยืนน้อยกว่า 1% “เกษตรกรผู้ปลูกน้ำมันในไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักและขาดความรู้เรื่องการปลูกปาล์มยั่งยืน”

ในเมืองไทย มีเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มประมาณ 2.4 แสนครัวเรือ มีประมาณ 79% เป็นเกษตรกรรายย่อย (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
ในเมืองไทย มีเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มประมาณ 2.4 แสนครัวเรือ มีประมาณ 79% เป็นเกษตรกรรายย่อย (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

การแทรกแซงจากรัฐบาลในประเทศผู้ผลิตมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากวิธีแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มที่อาศัยกลไกตลาดเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ยั่งยืน กนกวรรณกล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการน้ำมันปาล์มแห่งชาติ (กนป.) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น  สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ควรเร่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและอุตสาหกรรมผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานอย่างจริงจังเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มในบ้านเราให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อผืนป่าและทุกชีวิตที่อยู่ในนั้น

“ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเกษตรกรปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน โรงงานควรรับซื้อน้ำมันปาล์มจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืนและต้องสื่อสารให้ผู้บริโภครับทราบ” 

พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบของประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ เช่น กระบี่ สุราษฏร์ธานี และชุมพร คิดเป็นสัดส่วน 86.4% ของพื้นที่ปลูกน้ำมันปาล์มทั่วประเทศ (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบของประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ เช่น กระบี่ สุราษฏร์ธานี และชุมพร คิดเป็นสัดส่วน 86.4% ของพื้นที่ปลูกน้ำมันปาล์มทั่วประเทศ (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

บทบาทของผู้บริโภคที่หายไป

สิ่งสำคัญที่ยังขาดหายไปเป็นส่วนใหญ่ คือ เสียงของผู้บริโภคในประเทศที่ยังไม่มีความต้องการน้ำมันปาล์มยั่งยืน เพราะไม่รู้ว่าน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่พบได้ในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู น้ำยาทำความสะอาด และลิปสติก รวมถึงกว่าครึ่งของอาหารที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตเองก็มีส่วนประกอบของน้ำมันปาล์ม 

“ผู้บริโภคหลายคนอาจจะคิดว่าปัญหาการบุกรุกทำลายป่าเป็นเรื่องไกลตัวและไม่ใช่ปัญหาที่ตนก่อขึ้น แต่ความจริงมันเป็นใกล้ตัวเรามาก เพราะมากกว่า 50% ของผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่อยู่รอบตัวเรา เช่น อาหารและไบโอดีเซลมีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสม ผู้บริโภคเป็นคนกำหนดได้ว่าจะ ‘หยุด’ หรือ ‘ปล่อย’ ให้ปัญหาดำเนินต่อไป” 

คุณกนกวรรณอธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่า เกษตรกรหนึ่งคนจะสามารถปลูกปาล์มอย่างยั่งยืนได้ต้องผ่านหลายขั้นตอนและต้องเข้าอบรมเพิ่มพูนความรู้และทักษะหลายอย่าง ซึ่งมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงก่อนจะผ่านการรับรอง RSPO ได้ 

“น่าเสียดายที่น้ำมันปาล์มที่ผลิตอย่างยั่งยืนจากไทยถูกส่งออกไปผลิตเป็นสินค้าและวางขายในตลาดยุโรปหมด  ในฐานะที่เป็นคนไทย  เราอยากมีโอกาสได้ใช้สินค้าที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มยั่งยืนในบ้านเราบ้าง”  

น้ำมันปาล์มโอเลอินตราเทสโก้ (Tesco) เป็นน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์แรกของเมืองไทยที่ได้รับมาตรฐาน RSPO และวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต
น้ำมันปาล์มโอเลอินตราเทสโก้ (Tesco) เป็นน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์แรกของเมืองไทยที่ได้รับมาตรฐาน RSPO และวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต

เพียงแค่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่มีฉลาก RSPO ค่าใช้จ่ายตรงนั้นจะกลายเป็นผลกำไรสู่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรและครอบครัวดีขึ้น อีกทั้งสร้างแรงจูงใจในการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อไป

CONTACT

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 Soi Sukhumvit 13, Sukhumvit Road, Klongtoey Nua, Wattana, Bangkok 10110 Thailand

SITE VISITS

  • 987
  • 40,441
  • 1,565,874

LINKS

OUR WORKS

DATA PROTECTION

GIZ AGRICULTURE & FOOD CLUSTER E-MAGAZINE

FOLLOW US

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top