07 มีนาคม 2568

หญิงแกร่งแห่งบึงโจน: การดูแลแหล่งน้ำเพื่อชุมชนและอนาคต

โดย พงศ์นรินทร์ สุขแจ่ม โครงการ E-WMSA

ดอกบัวบานสะพรั่งที่บึงโจนในยามเช้า

บึงโจน: แหล่งน้ำและชีวิต

บึงโจน แหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ๋ ครอบคลุมพื้นที่ราว 164 ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณะที่อยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลวังวน และมีความสำคัญต่อชีวิตของชาวบ้านในหลายพื้นที่ ทั้งตำบลวังวน อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก และตำบลใกล้เคียงจากจังหวัดสุโขทัย บึงโจนสามารถส่งน้ำให้ชาวบ้านใช้ในการทำนากว่า 3,000 ไร่ รวมถึงเป็นแหล่งน้ำให้กับสัตว์เลี้ยง และใช้สำหรับการเพาะปลูกพืชผักสวนครัว ในฤดูน้ำหลากช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมของทุกปี บึงโจนเป็นบึงธรรมชาติที่ช่วยตัดยอดน้ำจากมวลน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำยมสายเก่า หรือคลองเมม และในหน้าแล้ง เกษตรกรผู้ใช้น้ำก็ใช้น้ำในบึงโจนสำหรับการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ โดยมีข้อตกลงในชุมชนว่าจะต้องเหลือน้ำไว้ในบึงให้เพียงพอสำหรับการทำประมงน้ำจืด ซึ่งแหล่งประมงน้ำจืดที่นี่มีปลาหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ปลานิล ปลาบึก และปลาชะโด ฯลฯ ทางสำนักงานประมงจังหวัดพิษณุโลกจะให้การสนับสนุนโดยการมาปล่อยพันธุ์ปลาเป็นระยะ เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำแห่งนี้ได้อย่างยั่งยืน

พลังของผู้หญิงในการดูแลบึงโจน

คุณสุวิมล เชิดชู เกษตรกรผู้ใช้น้ำหญิงจากตำบลวังวน อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับบึงโจนที่เธอเติบโตมา บึงโจนไม่ใช่เพียงแค่แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร แต่เป็นศูนย์รวมของชุมชนที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ “พื้นที่ตรงบึงโจนตรงนี้ ก็จะเก็บน้ำไว้ทำนา เป็นพื้นที่ทำมาหากิน ชาวบ้านสามารถมาหาปลา ส่วนบริเวณรอบบึงก็สามารถใช้เป็นพื้นที่เดินออกกำลังกายได้ด้วยคุณสุวิมลกล่าว

เธอเชื่อว่า ผู้หญิงสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลและพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การใช้ประโยชน์ แต่รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับทุกคน “เราอยากให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใดสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์ รวมถึงการช่วยกันดูแลรักษา ดิฉันเชื่อว่าถ้าทุกคนร่วมมือกัน ระดมความคิด ก็จะสามารถลงมือทำได้จนประสบผลสำเร็จ

ความร่วมมือของชุมชนเพื่อการพัฒนา

การดูแลบึงโจนเป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย นอกจากชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์โดยตรงแล้ว ยังมีการทำงานร่วมกับกรมชลประทานในการกำจัดวัชพืช เช่น ผักตบชวา ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนของน้ำ หากพบว่ามีวัชพืชมากเกินไป ทางชลประทานจะนำเครื่องจักรเข้ามากำจัด เพื่อให้บึงคงสภาพที่เหมาะสมต่อการใช้งานของชุมชน คุณวีระพงษ์ ดีมิต ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านวังน้ำบ่อกล่าว

ในฤดูเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะนำข้าวมาตากแดดที่ลานตากข้าวข้างบึงโจนในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส เมื่อเสร็จกิจกรรมแล้ว ชาวบ้านก็จะมานั่งพักกินน้ำ กินข้าว พูดคุยกันในศาลาเพื่อผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากอากาศที่ร้อน ในอนาคตบึงโจนอาจถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและสถานที่สำหรับกิจกรรมสันทนาการของชุมชน ผู้ใหญ่บ้านวีระพงษ์กล่าวถึงแผนการที่ต้องการพัฒนาที่รวมถึงการจัดกิจกรรมกีฬาแข่งเรือ การสร้างแพขายอาหาร และการพัฒนาเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว หากทำได้สำเร็จ รายได้ที่เกิดขึ้นจะสามารถนำมาพัฒนาหมู่บ้านและสร้างสวัสดิการให้กับชุมชนของเราได้

ร่วมเสริมสร้างพลังของผู้หญิง เพื่อชุมชนที่ยั่งยิน

บึงโจนเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกดำเนินมาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation: EbA) ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA) ภายใต้กิจกรรมของโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน (E-WMSA)
เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันสตรีสากล ซึ่งในปี 2568 ภายใต้หัวข้อ #AccelerateAction เร่งลงมือปฏิบัติงาน กรณีศึกษาของคุณสุวิมลและบึงโจน สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมบทบาทของสตรีให้เข้มแข็ง มีความรู้ความสามารถเพื่อส่งต่อพลังของการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและชุมชนเพื่อรักษาธรรมชาติและแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน ■

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top