ระยะเวลาดำเนินโครงการ : พ.ศ. 2567 – พ.ศ. 2571

โครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ

ข้าวคือส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เพราะประชากรไทยกว่า 5 ล้านครัวเรือนประกอบอาชีพในภาคการเกษตร การทำนาจึงเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจและวิถีชีวิตท้องถิ่น ด้วยพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 70 ล้านไร่ ประเทศไทยคือหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประชากรโลกกว่า 3.5 พันล้านคนที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม การปลูกข้าวกำลังเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระบวนการทำนาในพื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของทั่วประเทศมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 51% ของภาคเกษตรกรรมทั้งหมด สาเหตุหลักมาจากการทำนาแบบดั้งเดิมที่ขังนํ้าไว้ในนาตลอดฤดูปลูกข้าว ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งส่งผลต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการใช้ปุ๋ยที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ และขาดการจัดการสถานการณ์ของสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น ความแห้งแล้ง อุทกภัย ที่นับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้น  ส่งผลกระทบทำให้ผลผลิตข้าวเสียหาย  รายได้ของเกษตรกรลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Thai Rice: Strengthening Climate-Smart Rice Farming) คือโครงการประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงินและการวิจัย เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาความท้าทายเหล่านี้ ด้วยเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนวิถีการปลูกข้าวในปัจจุบันไปสู่แนวทางการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ โครงการฯ คาดหวังว่า การปลูกข้าววิถีใหม่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยให้ดียิ่งขึ้นในระยะยาว

วัตถุประสงค์

เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกข้าวในประเทศไทยไปสู่การปลูกข้าววิถีใหม่ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Climate-Smart Agriculture) มาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเทศ

ครอบคลุม 21 จังหวัดในประเทศไทย ได้แก่: เชียงราย เชียงใหม่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ ชัยนาท อ่างทอง ปทุมธานี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร ลพบุรี

แนวทางการดำเนินงาน

โครงสร้างและรูปแบบการดำเนินงานของโครงการประกอบไปด้วย:

  • การเสริมศักยภาพเกษตรกร

มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งเรื่องบริการส่งเสริมการเกษตรและองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการการปลูกข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มากขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้และความมั่นคงด้านอาหาร แม้ว่าต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

  • การขยายบริการเพื่อการส่งเสริมเกษตรกร

มุ่งขยายและสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผู้ให้บริการเทคโนโลยีที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกรผู้ต้องการเงินทุนสนับสนุนในการนำเทคโนโลยีที่เท่าทันต่อภูมิอากาศมาปรับใช้ในการปลูกข้าว

  • การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินการ

มุ่งเสริมสร้างและสนับสนุนความแข็งแกร่งให้กับสถาบันและกลไกทางตลาด เพื่อผลักดันให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคการปลูกข้าวร่วมสนับสนุนและส่งต่อวิถีการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศในระยะยาว

ผลลัพธ์ที่คาดหวัง

  • ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.44 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 253,400 รายนำเทคโนโลยีที่เท่าทันต่อภูมิอากาศมาปรับใช้
  • เพิ่มรายได้ต่อปีจากการปลูกข้าว 10%
  • เพิ่มดัชนีการเสริมศักยภาพของเกษตรกรสตรีที่เข้าร่วมโครงการ 40%
  • ลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตร 20%
  • ลดมลพิษทางอากาศจากการเผาตอซังข้าว 60-80%

สนับสนุนงบประมาณโดย

  • กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF)
  • กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ผ่านโครงการ develoPPP
  • พันธมิตรจากภาคเอกชนในระดับนานาชาติ ได้แก่ เอโบรฟู้ดส์ (Ebro Foods) มาร์ส ฟู้ด (Mars Food) โอแลม อะกริ (Olam Agri) และเป๊ปซี่โค (PepsiCo)
  • การสมทบที่ไม่ใช่เงินสด (In-kind) จากหน่วยงานปฏิบัติการ (Executing Entities: EE)

หน่วยงานปฏิบัติการ และหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการ

  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    • กรมการข้าว
    • กรมส่งเสริมการเกษตร
  • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร (ธ.ก.ส.)
  • สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI)
ติดต่อ
ดร. นานา คึนเคล
ผู้อำนวยการโครงการ
สริดา คณานุศิษฎ์
รองผู้อำนวยการโครงการ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง​

Scroll to Top