
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดนครสวรรค์และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนการดำเนินงานโครงการความร่วมมือไทย – เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Cooperation on Energy, Mobility and Climate Biomass Component หรือ TGC EMC กลุ่มพลังงานชีวมวล) สำหรับปี พ.ศ. 2568 ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์
การประชุมครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของโครงการ TGC EMC กลุ่มงานพลังงานชีวมวล ในปี พ.ศ. 2567 และหารือแผนการดำเนินงานของโครงการฯ สำหรับปี พ.ศ. 2568 ร่วมกับหน่วยงานความร่วมมือภาครัฐ ระดับปฏิบัติการ ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมนำเสนอผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ความคืบหน้าในการร่างหลักสูตรและเอกสารสำหรับการอบรมเกษตรกรเรื่องการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวข้าวและอ้อย และการศึกษาด้านพฤติกรรมการเผาและไม่เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและอ้อย โดยจังหวัดนครสวรรค์ได้รับเลือกในฐานะพื้นที่นำร่องการดำเนินงาน (City Lab) เนื่องจากมีศักยภาพทั้งในเชิงของปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และหน่วยงานของจังหวัดมีความพร้อมในการขับเคลื่อนโครงการฯ


นายณัฐกิตติ์ รัฐศิลป์โภคิน พลังงานจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวรายงานภาพรวมของโครงการ TGC EMC กลุ่มงานพลังงานชีวมวลว่า “โครงการฯ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (ฟางข้าวและใบอ้อย) มาแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล เพื่อลดการเผาในที่โล่ง อีกทั้งยังช่วยลดมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย”
โครงการ TGC EMC กลุ่มพลังงานชีวมวล มุ่งส่งเสริมให้เกิดการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังเก็บเกี่ยวข้าวและอ้อย เช่นฟางข้าวและตอซัง รวมทั้งใบอ้อย เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนให้เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ การเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลให้เกิดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ เกิดความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพ และนำไปสู่ความสูญเสียต่อศักยภาพการผลิตในภาคเกษตรของประเทศโดยรวม
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มุ่งเน้นให้เกิดการวางรากฐานการดำเนินงานโครงการสำหรับปีต่อไป เริ่มด้วยรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในปี พ.ศ.2567 ให้กับผู้เข้าร่วมประชุม เจ้าหน้าที่ของโครงการฯ นำเสนอผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ความคืบหน้าของการร่างหลักสูตรและเอกสารสำหรับการอบรมเกษตรกรเรื่องการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวข้าวและอ้อย และการศึกษาด้านพฤติกรรมการเผาและไม่เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของเกษตรกรข้าวและอ้อย ก่อนจะหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อหารือรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานโครงการฯ ในปี พ.ศ. 2568
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เช่นนี้จะจัดขึ้นทุกปี เพื่อวางแผนกิจกรรมและเป้าหมายให้สอดคล้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ การมีส่วนร่วมของหน่วยงานพื้นที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อประยุกต์ให้การดำเนินกิจกรรมของโครงการฯ สอดคล้องกับบริบทพื้นที่
โครงการฯ เลือกจังหวัดนครสวรรค์เป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากจังหวัดนครสวรรค์มีพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจรวม 4.71 ล้านไร่ และมีสัดส่วนการปลูกข้าวและอ้อยสูงกว่าพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ คือ ร้อยละ 51 และร้อยละ 16 ตามลำดับ นอกจากนี้ จังหวัดนครสวรรค์มีโรงไฟฟ้าชีวมวลรวมทั้งหมด 7 โรง รวมถึงมีศักยภาพในการเชื่อมโยงไปยังโรงไฟฟ้าชีวมวลและอุตสาหกรรมในจังหวัดใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี พ.ศ. 2560 – 2563 จังหวัดนครสวรรค์พบปัญหาการเผาและจุดความร้อนจำนวนมาก ดังนั้น โครงการฯ จึงมองเห็นโอกาสที่จะร่วมสนับสนุนหน่วยงานในจังหวัดนครสวรรค์เพื่อบรรเทาปัญหาการเผาในที่โล่งและเสนอทางเลือกเพิ่มเติมที่เป็นไปได้ให้เกษตรกร

สำหรับกิจกรรมภายใต้โครงการ TGC EMC ที่เกิดขึ้นตลอดปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมาประกอบไปด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือโครงการ TGC EMC ระหว่าง 8 หน่วยงาน การอบรมและศึกษาดูงานเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการเท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่เจ้าหน้าที่ของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง การประชุมนำเสนอความคืบหน้าของโครงการฯ และรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานความร่วมมือระดับปฏิบัติการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง การลงพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เพื่อหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ตลอดจนงานเปิดตัวโครงการ TGC EMC กลุ่มพลังงานชีวมวล ที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ได้แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินงานโครงการฯ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานพลังงานจังหวัด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการโครงการ TGC EMC กลุ่มงานพลังงานชีวมวล ดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวคิดและมุมมองของเกษตรกรและสังคมต่อคุณค่าของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
การนำเสนอการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ เริ่มต้นด้วยการนำเสนอการศึกษาด้านพฤติกรรมในการเผาและไม่เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวข้าวและอ้อย โดยรศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) และแนวทางพัฒนามาตราการสนับสนุนชาวนาเพื่อลดการเผาในที่โล่ง ต่อด้วยดร.นิตยา ชาอุ่น นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำเสนอร่างหัวข้อการอบรมของโครงการฯ และรศ.ดร.สุนีรัตน์ ฟุกุดะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำเสนอผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการฯ โดยแบ่งเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ 1.) การหาตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสมของโรงเก็บรวบรวมชีวมวล (Collection Center Facilities, CCF) ด้วยข้อมูลภูมิสารสนเทศและข้อมูลเชิงพื้นที่ (Geo-Spatial Database) 2.) รูปแบบธุรกิจของการบริหารจัดการฟางข้าวและใบอ้อย และ 3.) ผลการทดสอบการเพิ่มสัดส่วนการใช้ใบอ้อยอัดก้อนให้สูงที่สุดในหม้อไอน้ำโรงงานน้ำตาล
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯครั้งนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำเสนอข้อคิดเห็นและแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัสดุเหลือทางการเกษตร เจ้าหน้าที่โครงการจะนำข้อมูลที่ได้จากกิจกรรมกลุ่มย่อยไปวางแผนการดำเนินงานโครงการ TGC EMC กลุ่มพลังงานชีวมวล ในปี พ.ศ. 2568 ใน 4 ด้านหลักได้แก่ ตัวชี้วัดของโครงการฯ หัวข้อการอบรมเกษตรกร การคัดเลือกพื้นที่และกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย และโมเดลธุกิจของการบริหารจัดการฟางข้าวและใบอ้อย

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมเชิงปฏิบัติการ นางสาวลิศา เฟาสต์ ผู้จัดการโครงการ TGC EMC กลุ่มงานพลังงานชีวมวล กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมกิจกรรม และสรุปแผนการดำเนินงานโครงการ TGC EMC กลุ่มงานพลังงานชีวมวล สำหรับปี พ.ศ. 2568 โดยจะมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคู่มือฝึกอบรม ตัวชี้วัด การคัดเลือกพื้นที่ดำเนินงานให้เหมาะสมสำหรับโครงการนำร่อง รวมถึงการคัดเลือกรูปแบบธุรกิจที่มีศักยภาพ
นายมงคล ด้วงเขียว ที่ปรึกษาภาคสนามอาวุโสกล่าวว่า โครงการฯ มีแผนจัดทำเอกสารฝึกอบรมให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน และตั้งเป้าเริ่มเดินหน้าฝึกอบรมเกษตรกรกลุ่มแรกได้ในช่วงปลายปีนี้ ■