ระยะเวลาดำเนินโครงการ: สิงหาคม พ.ศ. 2567 – กรกฎาคม พ.ศ.2570
โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ที่ผ่านมาการผลิตน้ำมันปาล์มเติบโตอย่างรวดเร็วโดยขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเนื่องจากการบุกรุกพื้นที่อนุรักษ์ เช่น ป่าไม้ ป่าพรุ พื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม การใช้สารเคมีแบบไม่ถูกวิธีก่อให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งในการใช้ที่ดินและการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ คือการผลิตปาล์มน้ำมันจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำหรือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
อีกหนึ่งความท้าทายระดับโลกที่ภาคการเกษตรกำลังเผชิญอยู่ คือ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะ “โลกรวน”ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายกิจกรรมในภาคการเกษตรเป็นสาเหตุในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะเดียวกัน ผลกระทบจากภาวะโลกรวน เช่น ภัยน้ำท่วมและภัยแล้งที่ทวีคูณความรุนแรง ยังสร้างความเสียหายต่อผลผลิตภาคการเกษตรในวงกว้าง ดังนั้น การส่งเสริมเกษตรกรในการลดการปล่อยคาร์บอน และการปรับตัวต่อภาวะโลกรวนจึงเป็นเรื่องเรงด่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับสวนปาล์มน้ำมัน มีหลายกิจกรรมที่มีศักยภาพทั้งมิติการลดการปล่อยคาร์บอนและการปรับตัวจากโลกรวน ไม่ว่าจะเป็น การใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ การเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน การเก็บกักคาร์บอนในชีวมวล การปลูกพืชอื่นผสมผสานกับต้นปาล์ม เป็นต้น
ก่อนที่จะริเริ่มการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เกษตรกรควรเข้าใจอย่างถี่ถ้วนก่อนว่ากิจกรรมต่าง ๆ ในสวนปาล์มน้ำมันมีอะไรบ้าง กิจกรรมใดเป็นแหล่งการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และปล่อยออกมาในปริมาณมากน้อยเพียงใด เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปออกแบบค้นหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซฯ ได้อย่างเหมาะสม คาร์บอนฟุตปริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product) เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับเกษตรกรชาวสวนปาล์มในการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตปาล์มน้ำมันทะลายสด ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำมันปาล์มและการแปรรูปเป็นสารอนุพันธ์น้ำมันปาล์มอื่นๆ อีกมากมาย เช่น น้ำมันปรุงอาหาร ไบโอดีเซล ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล น้ำยาซักล้าง และเครื่องสำอาง เป็นต้น
บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (Global Green Chemicals Plc: GGC) เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีนโยบายและความมุ่งมั่นในการกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน จึงมีแนวคิดริเริ่มดำเนินกิจกรรมร่วมกับเกษตรกรเพื่อให้สามารถลดคาร์บอนได้ตั้งแต่ต้นทางของระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยโครงการ SPOPP CLIMA เป็นโครงการต่อยอดความสำเร็จจากการรับรองกลุ่มเกษตรกรรายย่อยตามมาตรฐาน RSPO ภายใต้โครงการ SPOPP และได้เปิดตัวเป็นทางการในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากGGC ดำเนินการโดย GIZ และความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตร โดยมุ่งเน้นในการสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรรายย่อยให้สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาต่อยอดในการคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันทะลายสด และมีแนวทางการจัดการสวนแบบคาร์บอนต่ำ ซึ่งการลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ แต่ยังเป็นการเพิ่มความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันของไทยในตลาดโลกอีกด้วย
วัตถุประสงค์
เพื่อเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรรายย่อยผลิตปาล์มน้ำมันในการจัดการสวนปาล์มแบบคาร์บอนต่ำของประเทศไทย
ประเทศ
จังหวัดชุมพร กระบี่ พังงา และตรัง ประเทศไทย
แนวทางการดำเนินงาน
1. การพัฒนาเครื่องมือการคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์ปาล์มทะลายสด
โครงการพัฒนาเครื่องมือในการคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ปาล์มทะลายสดของเกษตรกรที่สอดคล้องกับแนวทางข้อกำหนดขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (Thailand Greenhouse Gas Management Organization: TGO)
2. การจัดเก็บข้อมูลและประเมินคาร์บอนฟุตปริ้นท์สำหรับข้อมูลฐาน
โครงการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการปลดปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมสวนปาล์มของเกษตรกร และนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประเมินคาร์บอนฟุตปริ้นท์สำหรับใช้เป็นข้อมูลฐาน
3. การออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมและอบรมวิทยากร
โครงการออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมเรื่องคาร์บอนฟุตปริ้นท์และการคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ปาล์มทะลายสดสำหรับเกษตรกร นอกจากนั้นหลักสูตรดังกล่าวจะถูกถ่ายทอดไปยังวิทยากรของโครงการเพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้เกษตรกร
4. การจัดทำแปลงสาธิตเพื่อเป็นแบบอย่างในกิจกรรมการทำสวนปาล์มแบบคาร์บอนต่ำ
โครงการจะระบุกิจกรรมที่เหมาะสมในการทำสวนปาล์มแบบคาร์บอนต่ำ และจัดทำแปลงสาธิตเพื่อให้เกษตรกรได้มาศึกษาและนำไปปฏิบัติในสวนของตัวเอง โดยที่แปลงสาธิตนั้นจะเน้นแนวทางการปฏิบัติที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้โดยง่าย
5. การประเมินการลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์ปาล์มทะลายสด
โครงการจะประเมินคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ปาล์มทะลายสดทั้งก่อนและหลังจากที่เกษตรกรได้ปฏิบัติตามแนวทางการจัดการสวนแบบคาร์บอนต่ำเพื่อเป็นการเปรียบเทียบปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนกับก่อนเข้าร่วมโครงการ
สนับสนุนงบประมาณโดย
บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
- กรมวิชาการเกษตร
- เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนตรังน้ำมันปาล์ม และบริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด
- เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันทับทิม & ไชโย และบริษัท สุขสมบูรณ์น้ำมันปาล์ม จำกัด (สาขาพังงา)
- เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเอเจเสริมสร้างปาล์มน้ำมันยั่งยืน และบริษัท เอเจ ปาล์มออยล์ จำกัด
- วิสาหกิจชุมชนสานฝันเพหลาพัฒนาเศรษฐกิจ และบริษัท ปาล์มพันล้าน จำกัด
- วิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันภัทร และบริษัท ภัทรปาล์มออยล์ จำกัด
- วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน RSPO – พังงา