17 มิถุนายน 2567

โครงการ SPOPP ร่วมส่งเสริมความหลากหลายและเท่าเทียมในภาคการเกษตร

เรื่องและภาพ: เรื่องโดย จันทิมา กูลกิจและธิตินัย พงศ์พิริยะกิจ / กลุ่มโครงการเกษตรและอาหาร

แม้การเกษตรมักถูกมองว่าเป็นงานสำหรับผู้ชายแท้เท่านั้น แต่ปรัชญา รัตนบัณฑิต หรือ ปัช พิสูจน์ให้เห็นว่าความมุ่งมั่นในการเรียนรู้ช่วยให้คนรอบข้างยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเช่นกัน

โครงการ SPOPP ช่วยให้ปัชเข้าใจการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและเรียนรู้การบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น จนสามารถยกระดับผลผลิตของสวนปาล์มของครอบครัวได้ ปัชส่งต่อความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่กว่า 400 คน รวมถึงผู้คนรอบข้าง จนได้รับการยอมรับและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย

ปรัชญา รัตนบัณฑิต หรือ ปัช เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพลังความมุ่งมั่นและการเปิดใจยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในภาคการเกษตร หลังจากต้องเผชิญกับความกังขาจากผู้คนรอบข้างที่ไม่เชื่อว่าเขามีความสามารถพอที่จะดูแลสวนปาล์มน้ำมันได้ รวมถึงกรอบความคิดแบบเดิมที่เชื่อว่าการเกษตรเป็นงานสำหรับผู้ชายแท้เท่านั้น

แม้จะเติบโตมากับครอบครัวเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในจังหวัดชุมพร แต่ปัชกลับไม่สนใจเส้นทางสายนี้ จึงตัดสินใจจากบ้านเกิดมาเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อปี พ.ศ. 2558 และเมื่อจบการศึกษา เขาก็ได้เป็นพนักงานธนาคารประจำสำนักงานใหญ่ตามที่ฝันไว้ แต่ท้ายสุดปัชก็ค้นพบว่า นี่ไม่ใช่ตัวตนของเขาจริงๆ จึงตัดสินใจลาออกและกลับบ้านไปตั้งหลักใหม่เพื่อค้นหาสิ่งที่ต้องการอีกครั้ง ด้วยบุคลิกร่าเริงและมีมนุษยสัมพันธ์ดี ปัชจึงได้รับการแนะนำให้ทำงานใหม่ในฝ่ายจัดซื้อผลผลิตของโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันในจังหวัดชุมพร แม้ปัชจะขาดความมั่นใจ เพราะไม่มีความรู้เรื่องปาล์มน้ำมันเลย

ปัชพยายามหาโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองในวิชาชีพนี้จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (Sustainable Palm Oil Production and Procurement: SPOPP) ในฐานะวิทยากรเมื่อปี พ.ศ. 2565 เพื่อหาความรู้เพิ่มเติม โดยโครงการฯ นี้ทำให้ปัชเข้าใจการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและเรียนรู้การบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น องค์ความรู้และทักษะใหม่ช่วยปรับมุมมองที่ปัชมีต่อการเกษตรกรรมจากเดิมที่เคยมองว่าเป็นงานหนักและเกินความสามารถ ตอนนี้เขามั่นใจในตัวเองยิ่งขึ้นและพร้อมนำความรู้และเทคนิคที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้ในการดูแลสวนปาล์มน้ำมันของครอบครัว ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับผลผลิตของสวนปาล์มแล้ว ยังพิสูจน์ความสามารถของปัชให้ครอบครัวได้เห็น พร้อมกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ก่อนเข้าร่วมโครงการฯ สวนปาล์มของครอบครัวปัชได้ผลผลิตเฉลี่ยเพียง 3 ตันต่อไร่ต่อปี แต่หลังจากที่มีการจัดการสวนที่ดี ติดต่อกันสองปี ผลผลิตได้เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5-6 ตันต่อไร่ต่อปี ซึ่งทำให้รายได้ของครอบครัวเพิ่มขึ้นด้วย สวนทางกับต้นทุนที่ลดลง จนทำให้คุณแม่ธันย์ชนก เกตุนุ้ย แม่ของปัช รู้สึกภูมิใจในความสำเร็จของลูกเป็นอย่างมาก แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยคิดว่าปัชไม่สามารถช่วยทำสวนปาล์มของครอบครัวได้ เพราะดูไม่สนใจงานสายนี้และแตกต่างจากลูกชายบ้านอื่น แต่ในตอนนี้แม่ของปัชก็มั่นใจแล้วว่าลูกของเธอทำได้จริงๆ

ปัชคือความภาคภูมิใจของโครงการ SPOPP เช่นเดียวกัน เพราะเขาได้ฝึกฝนพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างต่อเนื่องในฐานะวิทยากรด้านกสิกรรมหรือการปฏิบัติที่ดีในสวน พร้อมนำองค์ความรู้ที่ได้ไปส่งต่อให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่กว่า 400 คนครอบคลุม 3 อำเภอในจังหวัดชุมพร ก่อนจะขยายผลไปสู่ญาติพี่น้องและชุมชนรอบข้างซึ่งช่วยให้คนในพื้นที่เข้าใจว่าการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนที่แท้จริงเป็นอย่างไร โดยปัชยังเป็นที่ปรึกษาและคอยพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจ จนผู้คนรอบข้างให้การยอมรับและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย

เรื่องราวของปัชในวัย 32 ปี เป็นเครื่องเตือนใจอันทรงพลังว่าการประกอบอาชีพเกษตรกรรมไม่ได้มีข้อจำกัดด้านเพศหรือเพศสภาพ หากผู้คนเปิดใจยอมรับความแตกต่างและมีการส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรอย่างเท่าเทียม โดยปัชกล่าวว่า “ผมขอขอบคุณ GIZ บริษัทโกลบอลกรีนเคมิคอล GGC และโครงการ SPOPP ที่สนับสนุน สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างตัวตนให้เป็นปรัชญาที่ทุกคนยอมรับในวันนี้ นอกจากนั้น ผมอยากฝากไว้ว่าไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน ใครจะยอมรับหรือไม่ แต่ถ้าให้คุณเปิดใจเรียนรู้ เต็มใจลงมือปฏิบัติ เชื่อมั่นในความเป็นตัวเอง ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ต้องการทำโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน มีความสุข มั่นใจว่าเราทำได้ คุณก็จะประสบความสำเร็จได้เช่นกัน”


โครงการ SPOPP มุ่งมั่นส่งเสริมความหลากหลายและเท่าเทียมในภาคการเกษตรกรรม โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ เข้ามามีบทบาทให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพื่อช่วยทลายกรอบความคิดแบบเดิมและปูทางสู่การเกษตรกรรมในอนาคตที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกันมากขึ้น ■

แกลอรี่ภาพ

วิดีโอ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN