ระยะเวลาดำเนินโครงการ: พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 - มีนาคม พ.ศ. 2569
RECARP
โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบฟื้นฟูในข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย
ข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นหนึ่งในพืชสำคัญของประเทศไทย แต่วิธีการปลูกข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายด้านความยั่งยืน ด้วยมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการดำรงชีวิตของชุมชนเมืองและเกษตรกร อาทิ การขังน้ำในนาข้าวก่อให้เกิดก๊าซมีเทน การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น ตอซัง ฟางข้าว และซังข้าวโพด ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งทวีความรุนแรงของมลภาวะทางอากาศและดินเสื่อมโทรม รวมถึงการใช้ปุ๋ยเคมีเกินความจำเป็นโดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นขึ้น
วัตถุประสงค์
ประเทศ
แนวทางการดำเนินงาน
โครงการออกแบบและดำเนินกิจกรรมโดยยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง (farmer-centric approach) อาจแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนดังนี้
- สำรวจและเก็บข้อมูลเบื้องต้น ประกอบกับสร้างเครือข่ายกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาลักษณะพื้นฐานของเกษตรกรและการทำเกษตรในพื้นที่
- วิเคราะห์ข้อมูลและออกแบบแนวทางการทำเกษตรฟื้นฟูที่เหมาะสมต่อพื้นที่
- ดำเนินการอบรมและกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น จัดทำแปลงสาธิต จัดงานวันสาธิต (field day) เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้และเครื่องมือที่จำเป็นสู่การปฏิบัติได้จริง
- ติดตามและวัดผลการเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรที่ได้รับการอบรม พร้อมให้คำแนะนำเพิ่มเติมกรณีเจออุปสรรค
วิธีการทำเกษตรฟื้นฟูที่มุ่งส่งเสริมในข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น ครอบคลุมตั้งแต่ก่อนเริ่มปลูกจนถึงการจัดการหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ การเข้าใจลักษณะและความต้องการของดิน การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การปรับปรุงบำรุงดิน การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การไม่เผาเศษวัสดุเหลือใช้หลังจากเก็บเกี่ยว รวมถึงการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ การทำเปียกสลับแห้งในนาข้าว และการใช้ระบบน้ำหยดในแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ผลดำเนินงานที่ผ่านมา
- ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พ.ศ.2567 โครงการดำเนินการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 292 รายในจังหวัดนครราชสีมาและลพบุรี และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 132 รายในจังหวัดลพบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง พร้อมทั้งออกแบบแนวทางการทำเกษตรฟื้นฟูที่เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิดในพื้นที่ดังกล่าว
- ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ.2567 โครงการเริ่มอบรมเกษตรกรนำร่อง โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าร่วมการอบรมครั้งแรกจำนวน 101 รายและเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 92 ราย หัวข้อการอบรมจะสอดคล้องกับแนวทางการทำเกษตรฟื้นฟูที่ออกแบบไว้ เช่น การปรับปรุงบำรุงดิน การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การจัดการน้ำ เป็นต้น กิจกรรมการอบรมจะดำเนินต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2568 เพื่อขยายผลความรู้สู่เกษตรกรในวงกว้างตามเป้าหมายของโครงการ
สนับสนุนงบประมาณโดย
บริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด