25 มีนาคม 2567

เทคโนโลยีการปรับพื้นที่การปลูกพืชหมุนเวียนด้วยระบบ GPS

เขียนโดย: ธันย์ชนก พงศ์พุฒินันท์ กลุ่มเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร GIZ ประเทศไทย; ภาพโดย: นายพงษ์ศักดิ์ ทาแกง

การเกษตรในยุคปัจจุบันต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีข้อจำกัดโดยเฉพาะทรัพยากรดิน ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญสำหรับมนุษย์ โดยเป็นแหล่งผลิตอาหาร แหล่งกักเก็บน้ำ และบริการทางนิเวศน์อื่น การเพาะปลูกข้าวเป็นกิจกรรมที่ต้องพึ่งพาความเหมาะสมของพื้นที่นาอย่างมาก โดยหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ผลผลิตข้าวลดลงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ คือ ปัญหาพื้นที่นาไม่สม่ำเสมอ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ เช่น การจัดการน้ำในพื้นที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การเจริญเติบโตของข้าวไม่สม่ำเสมอ และไม่สามารถควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืชในแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรจึงถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับตัวต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ด้วยเหตุนี้ โครงการการจัดการห่วงโซ่อุปทานข้าวและมันฝรั่ง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ด้วยวิธีการปลูกข้าว มันฝรั่ง และข้าวโพดหมุนเวียนอย่างยั่งยืน ได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการพื้นที่ปลูก ซึ่งเป็นกิจกรรมแรกที่สำคัญของการปลูกพืชให้ได้คุณภาพที่ดี โครงการฯ จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการและงานวันสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยี “การปรับระดับพื้นที่การปลูกพืชหมุนเวียนด้วยระบบ GPS (GPS Land Leveling)” เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนการทำงานของภาคการเกษตรในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินการของโครงการฯ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีในครั้งนี้มีเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเกษตรกรจากจังหวัดอุบลราชธานีเข้าร่วมการอบรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จำนวน 20 ราย ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากกรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 เชียงใหม่ สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงรายและอำเภอเวียงป่าเป้า สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เจ้าหน้าที่บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท อูรมัต จำกัด รวมทั้งสิ้น 60 คน

การปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบ GPS เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับระดับพื้นที่นาให้มีความเรียบสม่ำเสมอและเสถียรมากขึ้น โดยเทคโนโลยี GPS จะช่วยให้รู้ตำแหน่งสูง-ต่ำของพื้นที่อย่างละเอียด และมีความแม่นยำสูง อีกทั้งสามารถใช้เครื่องวิ่งสำรวจพื้นที่เพื่อหาค่าเฉลี่ยของแปลงได้เลย ซึ่งช่วยลดเวลาในการปรับพื้นที่และลดค่าแรงงาน ซึ่งการปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบ GPSสามารถใช้ได้ทั้งในพื้นที่เนินเขา พื้นที่ลาดชันสูง แต่ก็มีข้อจำกัดในบางกรณี เช่น ในพื้นที่ที่มีความลาดชันมากหรือมีสภาพภูมิศาสตร์ที่ซับซ้อน อาจทำให้การปรับระดับพื้นที่ไม่สามารถทำได้ในระดับที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม วิธีการปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบ GPS นี้มีความยืดหยุ่นสูงกว่าการปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Levelling) ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการใช้งานและการปรับตั้งค่าอุปกรณ์ ซึ่งอาจทำให้เกษตรกรที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีอาจพบว่ามีความซับซ้อนในการใช้งาน นอกจากนี้ หากในแปลงมีฝุ่นมากเกินไปก็จะเป็นอุปสรรคต่อลำแสงเลอเซอร์ระหว่างตัวส่งและตัวรับสัญญาณ ทำให้การทำงานคลาดเคลื่อนได้

นอกจากพื้นที่นาแล้ว เครื่องปรับระดับหน้าดินยังสามารถใช้ได้กับพืชหลากหลายชนิด เพื่อช่วยในการบริหารจัดการน้ำให้ทั่วทั้งแปลง ทำให้น้ำไม่ท่วมขังอยู่จุดใดจุดหนึ่ง เช่น มันฝรั่งเป็นพืชที่ต้องการน้ำ แต่ไม่ต้องการน้ำท่วมแฉะ จึงจะให้ผลผลิตดี หากเกษตรกรใช้วิธีแบบการดั้งเดิมโดยปรับพื้นที่จากการวัดด้วยสายตา จะพบว่าพื้นที่อาจมีความสูง-ต่ำในแปลงค่อนข้างมาก และใช้เวลาสูบน้ำนาน การปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีนี้จะช่วยลดระยะเวลาการปรับพื้นที่ได้ ช่วยให้พืชเติบโตสม่ำเสมอ ลดปริมาณศัตรูพืชทั้งโรคและแมลงต่างๆ และช่วยปรับปรุงระบบนิเวศในแปลงให้ดียิ่งขึ้น โดยประโยชน์ของเทคโนโลยีดังกล่าวในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสามารถสรุปได้ดังนี้

  • ทำให้หน้าดินให้มีระดับเสมอกันด้วยความแม่นยำ
  • เกษตรกรสามารถจัดการน้ำในแปลงนาได้ง่ายขึ้น ทำให้การระบายน้ำเข้า-ออกได้สะดวก พืชได้รับน้ำและปุ๋ยในเวลาพร้อมเพรียง หรือใกล้เคียงกัน
  • ลดปัญหาวัชพืช
  • ลดต้นทุนการการผลิตได้โดยไม่กระทบต่อสภาพแวดล้อม
การฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีในครั้งนี้ได้จุดประกายความสนใจให้กับเกษตรกร และหน่วยงานในพื้นที่ในการนำร่องเทคโนโลยีการปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบGPS ในจังหวัดเชียงราย รวมทั้งเป็นเป็นการบูรณาการแนวคิดในการจัดการภูมิทัศน์เกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอีกด้วย ■

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

แกลอรี่ภาพ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN