18 กรกฎาคม 2567

เสริมศักยภาพวิศวกรชลประทานด้วยการวิเคราะห์ความเสี่ยงและความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เรื่อง: พงศ์นรินทร์ สุขแจ่ม และ รวิวรรณ บุญไชย ภาพ: ธนพล อุณหฤกษ์

GIZ ร่วมกับกรมชลประทาน จัดฝึกอบรมด้านเทคนิคให้ผู้ปฏิบัติงานด้านน้ำในกรมชลประทาน ในหัวข้อกระบวนการการวิเคราะห์ความเสี่ยงและความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk and Vulnerability Assessment: CRVA) เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อไม่นานมานี้  องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับกรมชลประทานจัดการฝึกอบรมในหัวข้อ“กระบวนการการวิเคราะห์ความเสี่ยงและความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน (Enhancing Climate Resilience in Thailand through Effective Water Management and Sustainable Agriculture: E-WMSA) โดยมีโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) และกรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินงาน ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กรมชลประทานได้เล็งเห็นถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อทรัพยากกรน้ำและเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นที่มาในการจัดฝึกอบรมครั้งนี้ ณ อาคารที่ทำการฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์การประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk and Vulnerability Assessment: CRVA) มาใช้ในการพัฒนาทักษะด้านการวางแผนลุ่มน้ำ โดยคำนึงถึงมิติภูมิอากาศ และขยายผลไปสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ และเรียนรู้กระบวนการทางเทคนิคผ่านการลงมือปฏิบัติในกระบวนการการวิเคราะห์ CRVA ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ  ดร.กนกวรรณ ศาศวัตเตชะ ผู้จัดการโครงการ กล่าวต้อนรับและแนะนำโครงการ และคุณภัทรภรณ์ เมฆาพฤกษาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา กรมชลประทาน ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน

ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ ภาควิชาวิศกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอความสำคัญของการวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ ภาควิชาวิศกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอที่มาและความสำคัญของการวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  การออกแบบโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านมาจะใช้ข้อมูลด้านน้ำย้อนหลัง 30 ปี และไม่ได้คำนึงถึงข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต ส่งผลให้สิ่งก่อสร้างลักษณะโครงสร้างแข็ง เช่น เขื่อน และ ประตูระบายน้ำ ที่ออกแบบไว้อาจไม่เพียงพอในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มทวีคูณความรุนแรงขึ้นในอนาคต ดังนั้น การเสริมสิ่งก่อสร้างโครงสร้างแข็งด้วยการปรับตัวที่อาศัยระบบนิเวศ หรือ EbA (Ecosystem-based Adaptation) จึงมีความจำเป็น ทั้งนี้ การวิเคราะห์ CRVA เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ช่วยระบุพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้วิศวกรชลประทานสามารถวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือได้ตรงจุดมากขึ้น อีกทั้งการวิเคราะห์ CRVA นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการระบุ หามาตรการการปรับตัว EbA ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่เสี่ยงภัย  

ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ ได้บรรยายเนื้อหาแนวคิดหลักขององค์ประกอบ CRVA 4 มิติ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยอันตราย การเปิดรับต่อความเสี่ยง และความเปราะบาง และนำเสนอ Looker Studio จาก Google ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สามารถนำไปใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เครื่องมือ Looker Studio นี้ช่วยให้วิศวกรชลประทานสามารถวิเคราะห์ CRVA และนำเสนอผลการวิเคราะห์ออกมาเป็นแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัย ที่มีค่าระดับความเสี่ยงจากต่ำไปสูงในช่วงระดับ 0-1 ซึ่งสามารถช่วยในการระบุพื้นที่ที่ต้องการการสนับสนุนทรัพยากรเพิ่มเติมหรือแก้ไขปัญหาเร่งด่วน รวมทั้งการระบุมาตรการปรับตัว EbA ที่เหมาะสมในเชิงพื้นที่

เมื่อเสร็จสิ้นการบรรยาย ผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมดจะถูกแบ่งออกเป็นจำนวน 4 กลุ่มเพื่อทดลองใช้งานLooker Studio ออกแบบจัดทำแผนที่ CRVA ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่ทางกลุ่มต้องการนำเสนอข้อมูล โดยมี “พี่เลี้ยง” จากกรมชลประทาน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมด้านเทคนิคและการปฏิบัติจริงมาแล้ว เมื่อวันที่ 5-6 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ที่จังหวัดพิษณุโลก โดยเหล่าพี่เลี้ยงร่วมเข้าไปสังเกตการณ์และให้คำแนะนำแก่ผู้เข้าอบรมแต่ละกลุ่มอย่างใกล้ชิด

ผู้เข้าร่วมอบรมทั้งจากกรมชลประทาน และนิสิตฝึกงานกำลังวางแผนในการจัดทำแผนที่เพื่อนำเสนอ โดยมีพี่เลี้ยงช่วยดูแลแนะนำ

หลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอของแต่ละกลุ่ม ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ และคุณพรมงคล ชิดชอบ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำสำนักงานชลประทานที่ 2 กรมชลประทาน ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและเสนอประเด็นชี้แนะให้กับกลุ่มผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม สิ่งสำคัญในการวิเคราะห์ต้องคัดเลือกข้อมูลและรูปแบบการนำเสนอให้สอดคล้องกับทฤษฏี วัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมาย โดยรูปแบบการแสดงผลช่วยให้มองเห็นสภาพปัญหาและสามารถการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงช่วยในการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยกรน้ำในภาพรวมของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถลดความขัดแย้งเรื่องการคัดเลือกพื้นที่โครงการของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ได้ เนื่องจากมีการใช้ข้อมูลทางวิทยาศตร์ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมาวิเคราะห์และแสดงเป็นภาพแผนที่ที่เข้าใจง่ายได้อย่างชัดเจน ท้ายสุด ผู้เข้าร่วมการอบรมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อการอบรมว่า ได้รับความรู้ ได้ลงมือทำ  และรู้เห็นถึงประโยชน์ของการประยุกต์ใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ CRVA ในภารกิจงานของตนในอนาคต  โดยเฉพาะการจัดลำดับความสำคัญและกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ต้องการการจัดสรรน้ำอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคต  

“โจทย์คือเราจะสามารถนำเอาข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปใช้ในงานวิจัยและพัฒนาอะไรได้บ้าง ถึงแม้ว่าเราจะมีข้อมูลแล้ว แต่เราก็ยังไม่สามารถเอาข้อมูลไปบูรณาการกับการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม การที่ได้มาร่วมอบรมในครั้งนี้ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้จากการนำเสนอของอาจารย์ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมอบรมหลาย ๆ ท่าน ทำให้มองเห็นว่าเราจะสามารถนำข้อมูลตรงนี้ไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร”

คุณวรณัน โนราช วิศวกรโยธาปฏิบัติการจากส่วนวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรม สำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน

“ในฐานะพี่เลี้ยงของการอบรมครั้งนี้ นอกจากได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากครั้งที่แล้ว ความรู้จากการอบรมในครั้งนี้ยังสามารถได้นำไปใช้ในการจัดลำดับความสำคัญในการวางแผนงานออกแบบของตนอีกด้วย”

คุณพงศ์พิชญ์ ยอดยิ่ง วิศวกรโยธาชำนาญการ กรมชลประทาน

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN