04 มีนาคม 2568

E-WMSA จัดการฝึกอบรมพื้นฐาน สร้างการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำยั่งยืน

เรื่องและภาพ: พงศ์นรินทร์ สุขแจ่ม โครงการ E-WMSA / GIZ ประจำประเทศไทย

ผู้เข้าร่วมการประชุมจากภาคส่วนต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่านกว่า 20 ท่าน พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก

โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน (Effective Water Management and Sustainable Agriculture: E-WMSA) เป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมพื้นฐาน (Foundation Training) ภายใต้หัวข้อ “การคัดเลือกและเกณฑ์ในการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation: EbA)” ที่ห้องประชุมเมย์สวีท โรงแรมเมย์ ฟลาวเวอร์ แกรนด์ สวีท จังหวัดพิษณุโลก

การฝึกอบรมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA)  นับเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับ มาตรการ EbA และกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ โดยเฉพาะการใช้วงจร 6 ขั้นตอนของ EbA ในการระบุและจัดลำดับความสำคัญของมาตรการปรับตัว ตลอดจนการเลือกประเภทของ EbA ที่เหมาะสมกับภาคเกษตรกรรมและทรัพยากรน้ำ  มีผู้เข้าร่วมการอบรมกว่า 20 ท่าน จากหลากหลายภาคส่วน ได้แก่ เกษตรกรผู้ใช้น้ำ เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน และตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง การอบรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลจาก Alluvium Consulting  และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย  ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ และผู้เชี่ยวชาญกระบวนการดำเนินกิจกรรม

นายสมจิตฐิพงศ์ อำนาจศาล ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 3 ในฐานะประธานในพิธี ให้เกียรติกล่าวเปิดการอบรม พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างเกษตรกรในฐานะผู้ใช้น้ำ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดความตระหนักและความเข้าใจตรงกันในประเด็นหลักรวมถึง ความจำเป็นของการใช้น้ำ หลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการคัดเลือกมาตรการ EbA ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่

ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินมาตรการ EbA กับผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม

กิจกรรมการอบรมแบ่งออกเป็นช่วงเช้าและบ่าย มีการบรรยายให้ความรู้โดย ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ควบคู่กับการทำงานแบ่งกลุ่มย่อย เนื้อหาหลักมุ่งเน้นประเด็นสำคัญได้แก่:

  • การระบุและเลือกใช้วิธีการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศที่เหมาะสมกับพื้นที่
  • การนำเสนอและใช้เกณฑ์ในการจัดลำดับความสำคัญของวิธีการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (EbA)
กิจกรรมกลุ่มย่อยภาคบ่ายเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์บริหารจัดการน้ำ

ภายหลังการบรรยาย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอผลการทำงานกลุ่มเพื่ออภิปรายร่วมกัน ที่ประชุมต่างเห็นพ้องว่า การดำเนินมาตรการ EbA ไม่เป็นเพียงแค่การใช้ประโยชน์นิเวศบริการ แต่จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากชุมชนในพื้นที่ การมีส่วนร่วมของชุมชน คือหัวใจหลักของการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน ประสบผลสำเร็จ

เจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมกันแสดงความคิดเห็นในประเด็นการคัดเลือกมาตรการ EbA ในพื้นที่

นอกจากนี้ การอบรมยังช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเกษตร ผู้ใช้น้ำ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่โครงการ ในการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาแนวทางที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในพื้นที่ ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน ■

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top