16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เกาะบาหลี อินโดนีเซีย – คณะผู้แทนจากรัฐสมาชิกอาเซียน (ASEAN Member States) ได้ร่วมอภิปรายสรุปข้อเสนอแนะสำหรับนโยบายและมาตรการการเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรในระดับภูมิภาค แม้การเกษตรจะถือเป็นรากฐานในการดำรงชีวิตของผู้คนในรัฐสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ แต่ความยั่งยืนของผลผลิตทางการเกษตรกลับเป็นที่น่ากังวล เนื่องด้วยปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่รุนแรง อาทิ ภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุ ก่อให้เกิดความสูญเสียของพืชผลทางการเกษตรทั่วภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรรายย่อยนับล้านคนจึงตกอยู่ในภาวะเสี่ยง เนื่องจากทรัพยากรทางการเงินที่จำกัด โดยเฉพาะในด้านการประกันภัยพืชผล ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรอย่างหนัก
การประชุมทางเทคนิคระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 30 คนจากกลุ่มประเทศอาเซียน การประชุมนี้ถือเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อเสนอแนะ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพและสนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน
คณะผู้แทนในที่ประชุมได้เสนอแนะแนวทางเกี่ยวกับกิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์องค์ความรู้ที่พร้อมจะถ่ายทอดให้แก่รัฐสมาชิกอาเซียนในทุกระยะขั้นตอนของการพัฒนาการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ระยะนำร่อง ไปจนถึงระยะของการยกระดับศักยภาพ
ผลลัพธ์ที่ตกผลึกระหว่างการประชุมอภิปรายครั้งล่าสุด มีอยู่สองประเด็นหลักได้แก่ ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการสำหรับนโยบาย และผลิตภัณฑ์องค์ความรู้นั้น เป็นผลลัพธ์ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจในการเน้นย้ำความสำคัญของการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร การสร้างข้อเสนอแนะ และการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาค
ดร.ฟาม ควาง มิน (Pham Quang Minh) หัวหน้าแผนกอาหาร เกษตร และป่าไม้ ของสำนักเลขาธิการอาเซียนกล่าวว่า “การประกันภัยพืชผลทางการเกษตรมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังช่วยปกป้องคุ้มครองเกษตรกรจากผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยแนวทางการช่วยเหลือคุ้มครองทางการเงินเพื่อให้เกษตรกรสามารถฟื้นตัวจากผลกระทบได้อย่างรวดเร็วนั้น การประกันภัยทางการเกษตรจึงไม่เพียงแต่จะสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังยกระดับความสามารถทางเศรษฐกิจในภาคการเกษตรของเราอีกด้วย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการประชุมอภิปรายครั้งนี้ เราจะสามารถสร้างเป้าหมายร่วมกัน เห็นความสำคัญของการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรในทิศทางเดียวกัน แบ่งปันข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการทางนโยบายในอาเซียนที่สามารถทำได้จริง และกระตุ้นความร่วมมือในขอบเขตภูมิภาคร่วมกันได้”
นายเฮียร์มาน อาบู (Hirman Abu) คณะผู้แทนจากประเทศบรูไนดารุสซาลัม เจ้าหน้าที่พิเศษระดับอาวุโสของกระทรวงการเกษตรและป่าไม้ของอาเซียน (SOM-AMAF) ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์การประกันภัยทางการเกษตรที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ ในราคาที่สมเหตุสมผลเข้าถึงได้ง่ายสำหรับเกษตรกรรายย่อย ทั้งนี้ เพราะเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง จึงสูญเสียทั้งรายได้และผลผลิตทางการเกษตร การส่งเสริมความร่วมมือของภาคเอกชนในด้านการประกันภัยและการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้าใจประโยชน์ของผลิตภัณฑ์การประกันภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
ผู้ร่วมประชุมยังได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการแบ่งปันเทคโนโลยีและองค์ความรู้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการประกันภัยทางการเกษตร นอกจากนั้น การประกันภัยทางการเกษตรและมาตรการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการรับมือต่อสภาพภูมิอากาศ เช่น สินเชื่อสีเขียว ยังได้รับการพิจารณาให้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์และแผนการดำเนินการหลังปีพ.ศ. 2568 ของอาเซียน เพื่อเสริมศักยภาพความร่วมมือสู่ภาคเกษตรกรที่แข็งแกร่งต่อไป
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างหลายสถาบัน ได้แก่ สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) โครงการสนับสนุนการประกันภัยเพื่อพืชผลทางการเกษตรในอาเซียนผ่านความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน (the Promotion of Crop Insurance in ASEAN through Public and Private Partnership Project) มอบหมายโดยกองทุนความร่วมมือญี่ปุ่น – อาเซียน (the Japan ASEAN Integration Fund (JAIF) ดำเนินการโดยบริษัท Sanyu Consultants จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงโครงการการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน (the Innovative Climate Risk Financing for the Agricultural Sector in the ASEAN Region) มอบหมายโดยกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) และดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ■
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ธ.ก.ส.-GIZ เดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถบุคลากร-เกษตรกร เตรียมความพร้อมด้านการเงินเพื่อรับมือความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ
- การออกแบบเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตร
- GIZ เปิดตัวโครงการการพัฒนาบริการทางการเงินเชิงนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมภาคเกษตรไทยรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ