![](https://www.asean-agrifood.org/wp-content/uploads/2024/10/LINE_ALBUM_แปลงถั่วแระญี่ปุ่น-คุณยุทธนา-วรรณรัตน_240427_18.jpg)
ถนนแห่งการเรียนรู้สู่วิถีเกษตรกรรมเท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เรื่องโดย อภิรดี ตรีรัตน์เกื้อกูล/ กลุ่มโครงการเกษตรและอาหาร เกษตรกรสมาชิกโครงการ SARI เข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัยเมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดเขียงใหม่ก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนา เกษตรกรสมาชิกโครงการข้าวหอมมะลิยั่งยืน (Sustainable Aromatic Rice Initiative หรือ SARI) จากจังหวัดร้อยเอ็ด ทั้งหมดราว 50 ท่านเดินทางแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ชาวนาอีสาน-กลาง-เหนือ ในประเด็นการจัดการพื้นที่เกษตรกรรมที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเดินทางศึกษาดูงานทางรถตลอดสัปดาห์เมื่อไม่นานมานี้ เริ่มต้นจากบ้านเกิดของเกษตรกรสมาชิกโครงการ คือจังหวัดร้อยเอ็ด หนึ่งในห้าจังหวัดที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ พื้นที่ราบอันกว้างใหญ่ราวสองล้านไร่ หนึ่งในสามของพื้นที่อยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ด ทุ่งกว้างนี้ยังครอบคลุมบริเวณพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ยโสธรและมหาสารคาม ครั้งหนึ่งทุ่งกุลาร้องไห้เคยแห้งแล้งได้รับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิอันโด่งดัง แต่ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ และการปลูกข้าวที่อาศัยแต่เพียงน้ำฝน ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้เพียงปีละครั้ง เกษตรกรจำเป็นต้องหารายได้เสริมจากปศุสัตว์ ปลูกพืชผักสวนครัว แม้กระทั่งรับจ้างทำงานนอกพื้นที่เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว