19 พฤษภาคม 2568

การเลี้ยงผึ้งเพื่อเกษตรกรรมฟื้นฟูที่ยั่งยืน

เรื่องและภาพโดย อภิรดี ตรีรัตน์เกื้อกูล

เกษตรกรสตรีสมาชิกโครงการคอฟฟีดับเบิ้ลพลัส เรียนรู้วิธีการทำฟีโรโมนไว้ฉีดล่อผึ้งชนิดต่าง ๆ รวมทั้งผึ้งโพรงป่าด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะพื้นฐานของการเลี้ยงผึ้ง

ชุมพร – กลุ่มแม่บ้านและเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้าในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินหงษ์เจริญ อำเภอท่าแซะ กำลังช่วยกันต้มรวงผึ้งกับน้ำ อีกกลุ่มกำลังช่วยกันบดกล้วยน้ำว้า แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ร้อนและเลอะเทอะอยู่บ้าง แต่ยังมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะในกลุ่มผู้เข้ากิจกรรม ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกันเป็นครั้งแรกว่ากลิ่นของกล้วยสุกใกล้เคียงกับฟีโรโมนของผึ้ง เมื่อส่วนผสมรวงผึ้งกับน้ำเริ่มเย็นและจับตัวจึงผสมยีสต์และกล้วยเข้าด้วยกัน หมักทิ้งไว้ 15-30 วัน เกษตรกรจะได้หัวเชื้อฟีโรโมนไว้สำหรับนำมาใช้เพื่อล่อผึ้งให้เข้ามาสร้างรังผึ้งได้

กิจกรรมที่เกษตรกรทั้งหมด 16 คนกำลังเรียนรู้อยู่นี้คือวิธีการทำฟีโรโมนไว้ฉีดล่อผึ้งชนิดต่าง ๆ รวมทั้งผึ้งโพรงป่าด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะพื้นฐานของการเลี้ยงผึ้งที่่โครงการคอฟฟีดับเบิ้ลพลัสจัดขึ้น โดยเลือกพื้นที่ปฏิรูปที่ดินหงษ์เจริญ เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีทักษะและความรู้เกี่ยวกับการเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะการเลี้ยงผึ้งและชันโรงเป็นการเกษตรที่ไม่ต้องใช้พื้นที่มาก สตรีในชนบทและพื้นที่ห่างไกลสามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ กลุ่มเลี้ยงผึ้งและชันโรงจะช่วยให้สตรีในชุมชน มีบทบาทที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

เกษตรกรทั้งหมด 16 คนเข้าร่วมการอบรมการเลี้ยงผึ้งซึ่งโครงการคอฟฟี่ดับเบิ้ลพลัสจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยเลือกพื้นที่ปฏิรูปที่ดินหงษ์เจริญ จ.ชุมพรเป็นพื้นที่นำร่อง

การเลี้ยงผึ้งและชันโรงจัดเป็นหนึ่งในแนวทางเกษตรกรมเชิงฟื้นฟูที่โครงการคอฟฟี่ดับเบิ้ลพลัสให้การสนับสนุนและส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรเพื่อสร้างความร่วมมือร่วมกันในการพัฒนากลุ่มให้มีความเข้มแข็ง ผ่านกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกันยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการเลี้ยงผึ้งและชันโรง

กิจกรรมนำร่องขึ้นนี้จัดขึ้นในเขตปฏิรูปที่ดินหงษ์เจริญ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสวนปาล์มน้ำมันเก่า มีพื้นที่มากถึง 6,221 ไร่ แต่ละครัวเรือนที่ต้องการเพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อทำกิน จะได้รับการจัดสรรที่ดินครัวเรือนละ 5 ไร่ เพื่อทำการเกษตร อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องเผชิญกับความแห้งแล้ง ภาวะฝนทิ้งช่วงและสภาพดินที่ขาดความอุดมสมบุรณ์และต้องการการเวลาในการฟื้นฟู อีกทั้งต้องเผชิญสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ได้ผลผลิตและรายได้ที่ไม่เพียงพอ

เสาวนีย์ ชูมี คือหนึ่งในเกษตรกรสตรีที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ปีนี้นับเป็นปีแรกที่เธอและครอบครัวสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟโรบัสต้าได้ หลังจากเริ่มปลูกกาแฟเมื่อสามปีก่อน

เสาวนีย์และลูกสาวกำลังช่วยกันเก็บเมล็ดกาแฟโรบัสต้าสีแดงสดจากต้น ก่อนอากาศจะทวีความร้อนในช่วงสาย

เมล็ดเชอร์รี่กาแฟสีแดงสดเต็มต้นคือผลผลิตของความภาคภูมิใจ ฤดูกาลแรก ภายหลังสามปีที่ตนและครอบครัว ช่วยกันปลูกและดูแลต้นกาแฟในพื้นที่ทำกินแห่งนี้ “การปลูกกาแฟและการเก็บเมล็ดกาแฟไม่ใช่งานสบาย ๆ ต้องอาศัยความอดทนและใจเย็น รู้สึกดีใจและภูมิใจที่งานหนักตลอดสามปีที่ผ่านมาออกดอกผลให้ได้เก็บเกี่ยวแล้ว”

คุณเสาวนีย์นำแนวทางเกษตรผสมผสานมาปรับใช้กับที่ดินจัดสรรของครัวเรือน นอกจากกาแฟโรบัสต้าแล้ว ยังมีพืชพันธุ์อื่น ๆ ด้วยเช่นแตงกวา พริก และผลไม้เมืองร้อนอย่างกล้วย  มะม่วง ทุเรียน ความหลากหลายของพืชผักผลไม้ ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยฟื้นฟูดินตามแนวทางเกษตรกรรมฟื้นฟู และเพิ่มการจัดการสวน เพื่อสร้างรายได้ให้ครัวเรือนได้ตลอดปี แต่เพราะข้อจำกัดเรื่องแหล่งน้ำ และไฟฟ้า ทำให้รายได้จากการขายผลผลิตตอนนี้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ การเลี้ยงผึ้งจึงเป็นอีกทางเลือกที่จะเข้ามาเพิ่มและเสริมรายได้ให้กับครอบครัวได้

ขั้นตอนการเผาลังไม้ภายหลังจากการถูขี้ผึ้งเพื่อให้กลิ่นกระจายไปไกลขึ้น เพิ่มโอกาสล่อให้ผึ้งเข้ามาทำรัง

กิจกรรมการฝึกอบรมวิธีการเลี้ยงผึ้งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่เสาวนีย์และกลุ่มเกษตรกรสตรีในพื้นที่ได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการเลี้ยงผึ้งและเทคนิคการล่อผึ้งในทุกขั้้นตอน ตั้งแต่การเตรียมทำฟีโรโมนจากรวงผึ้ง ยีสต์และกล้วยน้ำว้า ขั้นตอนการถูขี้ผึ้งและเผาลังไม้เพื่อให้กลิ่นฟีโรโมนกระจายไปได้ไกลขึ้นและการฉีดพ่นฟีโรโมนซ้ำอีกครั้ง 

ทั้งนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนจะได้รับรังผึ้งที่ทำจากลังไม้จากบริษัทเนสเลท์ (ประเทศไทย) จำกัดในฐานะหุ้นส่วนโครงการคอฟฟี่ดับเบิ้ลพลัส ประเทศไทย เพื่อให้เกษตกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยสามารถทำการทดลองเลี้ยงผึ้งและชันโรงในพื้นที่เกษตรของตนเอง

สามเดือนผ่านไป รังผึ้งที่ไร่ของคุณเสาวนีย์ก็เริ่มมีผึ้งเข้ามาทำรังแล้ว เกษตรกรหญิงชาวชุมพรในวัย 47 ปีหวังว่าจะสามารถเก็บผลผลิตจากการเลี้ยงผึ้งและผึ้งชันโรงไว้จำหน่ายในเร็ววัน

วีรินท์ภัทร์ เจนวัฒนากูล ผู้จัดการโครงการคอฟฟี่ดับเบิ้ลพลัสประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรมการเลี้ยงผึ้งและชันโรง นับเป็นกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะและศักยภาพเกษตรกร ตามแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เกษตรกรรมฟื้นฟู และแนวคิดวนเกษตร และความรู้จากหลักสูตรโรงเรียนธุรกิจการเกษตรที่โครงการเคยส่งเสริมในพื้นที่ปลูกกาแฟโรบัสต้าและประความสำเร็จเป็นอย่างดี  โครงการคอฟฟี่ดับเบิ้ลพลัสได้รับความร่วมมือจากหุ้นส่วนโครงการทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ และพร้อมนำทักษะและความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการไปปรับใช้กับพื้นที่เกษตรกรรมของตนเอง โดยเฉพาะพื้นที่ทางการเกษตรที่ถูกใช้งานมาอย่างยาวนาน เช่นเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินหงษ์เจริญ

เราส่งเสริมให้เกษตรกรรายผู้ปลูกกาแฟรายย่อยเลี้ยงผึ้งและชันโรง เพราะผึ้งคือหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ หากมีการนำทักษะความรู้มาปฏิบัติใช้อย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มเกษตรกรสตรีให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ทางการเกษตรของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราส่งเสริมให้เกษตรกรสตรีผู้เลี้ยงผึ้งและชันโรงรวมกลุ่มกันเพื่อผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เพื่อให้เสียงของชุมชนดังขึ้นและมีบทบาทที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในระยะยาว

ทั้งนี้โครงการจะคอยติดตามผลความก้าวหน้าของการเลี้ยงผึ้งและชันโรง และแนวทางการเกษตรอื่น ๆ ที่นำมาปรับใช้ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินหงษ์เจริญและพื้นที่อื่น ๆ จนจบโครงการในปีปลายปี พ.ศ.2568 ต่อไป

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

แกลอรี่ภาพ

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top