ระยะเวลาดำเนินโครงการ : 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2568

ASEAN SME II
โครงการพัฒนาโครงสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคอาเซียน

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันตลาดโลกก้าวเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัล ตลาดการค้าข้ามพรมแดนขยายตัวยิ่งขึ้น โอกาสสำหรับธุรกิจ SMEs ที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดสากลก็มีมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตามการขยายตัวของ SMEs เข้าสู่ตลาดทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคมักมีอุปสรรคเพราะขาดข้อมูล เครือข่าย และคู่ค้า ฉะนั้นการจับมือกับคู่ค้าที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจรวมถึงความเข้าใจต่อข้อกำหนดของนโยบายการค้าในปัจจุบันย่อมเป็นรากฐานสำคัญของ SMEs ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดสากล

อาเซียน (ASEAN) เล็งเห็นความสำคัญของ SMEs ในฐานะธุรกิจที่ช่วยกระตุ้น ผลักดัน เชื่อมต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคให้เดินหน้าต่อไปได้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่มีการแข่งขันสูง มีความเท่าเทียมทางดิจิทัล และยั่งยืนกว่าเดิมนั้นจึงมุ่งขยายฐานการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆโดย SMEs และเพื่อ SMEs เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจ

ด้วยความร่วมมือกับคณะกรรมการด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยอาเซียน (ACCMSME) โครงการฯสนับสนุนให้นำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอาเซียน ปี พ.ศ.2568 (SAPSMED 2025) มาปฏิบัติ โดยเน้นไปที่ 2 ประเด็นหลัก คือ 1) การปรับปรุงการเข้าถึงตลาดและการเข้าสู่สากลของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (1เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ C) 2) การยกระดับนโยบาย และสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ (2เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ D)

วัตถุประสงค์

โครงการ ASEAN SME II ดำเนินการต่อจากฐานประสบการณ์และเครือข่ายของโครงการ ASEAN SME ที่มีขึ้นก่อนหน้านี้ โดยมีวัตถุประสงค์โดยรวมเพื่อควบรวมความร่วมมือระดับภูมิภาคเข้ากับความช่วยเหลือในระดับประเทศของสมาชิกอาเซียนบางประเทศ และมุ่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภูมิภาคและลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก นอกจากนั้นโครงการฯยังดำเนินการสอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (Agenda 2030) โดยดำเนินโครงการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 8 กล่าวคือส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน และข้อที่ 9 การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน

ประเทศ

ระดับภูมิภาค / อาเซียน (ประเทศสมาชิก 10 ประเทศ)

แนวทางการดำเนินงาน

แพลตฟอร์มออนไลน์ ASEAN Access (www.aseanaccess.com) คือหัวใจของโครงการฯ ที่ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศร่วมกันเป็นเจ้าของ โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในฐานะแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคที่ให้บริการข้อมูลด้านธุรกิจอย่างครบวงจร ASEAN Access บ่งชี้ถึงความต้องการและขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมในอาเซียนที่พร้อมจะก้าวสู่การค้าสากล ด้วยเหตุนี้ ASEAN Access จึงมีจุดเด่นในการเป็นพื้นที่จัดสัมมนาออนไลน์เกี่ยวกับเทรนด์ธุรกิจโลก และการจับคู่ธุรกิจ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธุรกิจผู้ให้บริการ สมาคมธุรกิจ หรือกลุ่มพันธมิตรเครือข่ายอื่นๆ โดยทางโครงการฯได้พัฒนาและเพิ่มฟังก์ชันใหม่ๆให้เว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบการเรียนรู้ออนไลน์ (E-learning) ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหลัก หรือความผันผวนของตลาดและทิศทางนโยบาย ASEAN Access ใช้โครงสร้างการกำกับดูแลที่ผนวกภาครัฐบาลกับภาคเอกชนเข้าด้วยกัน โดยคณะกรรมการด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยอาเซียน (ACCMSME) จะให้คำแนะนำด้านกลยุทธ์โดยตรงผ่านหน่วยงานเฉพาะกิจของแต่ละประเทศ และเครือข่ายภาคเอกชนจะเป็นผู้จัดทำกิจกรรมและหัวข้อในการเสวนาต่างๆ ตามความสนใจ อาทิ การจัดเสวนาที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการสตรี และทูตกิจกรรม ASEAN Access ในขณะเดียวกันเว็บไซต์ ASEAN Access ก็ทำงานควบคู่ไปกับเว็บไซต์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมของแต่ละประเทศในอาเซียน ภายใต้กรอบการดำเนินงานของข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน โครงการฯยังคงดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนในประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนามอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ อาทิ การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

  • ฐานผู้เข้าใช้งานของแพลตฟอร์มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี พ.ศ. 2564 ปัจจุบัน ASEAN Access มีฐานสมาชิกแล้วกว่า 2,900 ราย และมีพันธมิตรเครือข่ายทางธุรกิจกว่า 47 ราย โดยโครงการฯมุ่งหวังว่าประโยชน์และจุดเด่นของตัวแพลตฟอร์มจะช่วยขยายฐานผู้ใช้งานให้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
  • ประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจะจัดสรรเงินทุนและทรัพยากรบุคคลในจำนวนที่เหมาะสมไว้เพื่อดูแลและพัฒนาเว็บไซต์ ASEAN Access ทั้งในระยะสั้นและยาว ภายใต้วิสัยทัศน์ปี พ.ศ. 2568 ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เว็บไซต์ ASEAN Access จะถูกจดจำอย่างกว้างขวางในฐานะผู้ให้บริการด้านข้อมูลความรู้และผู้สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมในระดับภูมิภาคอาเซียน
  • เฉกเช่นเดียวกัน โครงการฯคาดหวังจะขยายฐานผู้ใช้บริการเว็บไซต์ SMEs ของประเทศกัมพูชา และเวียดนามด้วยบริการใหม่ๆ การมีผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นและหลากหลายจะช่วยสร้างและเตรียมความพร้อมสู่การค้าสากลให้กับเครือข่าย SMEs ซึ่งข้อตกลงร่วมกันในการใช้งานเว็บไซต์ได้มีการปรึกษาและตกลงกันเรียบร้อยแล้วกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศสมาชิกอาเซียน
  • หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในอาเซียนมีส่วนในการเข้าร่วมหารือเชิงนโยบาย โดยสามารถกำหนดหัวข้อนโยบายในอนาคตและข้อเสนอแนะได้ โดยจุดนี้สะท้อนผลลัพธ์ของตัวชี้วัดเชิงนโยบายในการพัฒนา SMEs อาเซียนปี พ.ศ. 2567 (ASPI) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานอาเซียนด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (ACCMSME) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)

ผู้สนับสนุนด้านงบประมาณ

กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)

หน่วยงานร่วมดำเนินโครงการ

คณะกรรมการด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยอาเซียน (ACCMSME) และหน่วยงาน ระดับชาติที่ทำงานเกี่ยวข้องกับ SMEs ของทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยพันธมิตรในประเทศไทย คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ติดต่อ
คุณยศธนา ศรีพรหมไชย
Component Leader

เอกสารที่เกี่ยวข้อง