เขียนโดย: ทีมเกษตรกรรมและอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย
เพราะปัญหาภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ อีกต่อไป วันนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไม่มีการควบคุมส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อภาคเกษตรกรรม กระดูกสันหลังของชาติไทยอย่างชาวนากำลังตระหนักถึงปัญหานี้ และพร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาเพื่อปรับตัวเข้ากับโลกยุคปัจจุบัน และช่วยลดปัญหาโลกร้อน
ด้วยเงินสนับสนุนจากนา ฟาซิลิตี้ (NAMA Facility) ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือไทย ไรซ์ นามา จึงเกิดขึ้นเพื่อดำเนินงานส่งเสริมเกษตรกรให้มีการทำนาแบบยั่งยืนในพื้นที่เขตชลประทานภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.8 ล้านไร่ ชาวนาจะได้เรียนรู้วิธีการปลูกข้าวอย่างยั่งยืนโดยการนำเทคโนโลยีช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้ในแปลง เช่น ปรับระดับพื้นที่นาด้วยแสงเลเซอร์ ทำนาแบบเปียกสลับแห้ง จัดการปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ จัดการฟางและตอซังเพื่อลดการเผาในที่โล่ง เลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ และการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่ภาพข้างล่างได้สรุปหัวใจของแต่ละเทคนิคเอาไว้
เมื่อเกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำนาแล้วจะพบว่า การทำนาให้ประสบผลสำเร็จไม่จำเป็นต้องขังน้ำปริมาณมากไว้นาน ซึ่งส่งผลให้ค่าน้ำมันสำหรับสูบน้ำเข้านาลดลง เกษตรกรไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเก็บ หรือหนี้สินอีกต่อไป เพราะได้ราคาขายข้าวเป็นธรรมจากทางโครงการ การทำนาแบบยั่งยืนนอกจากจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตแล้ว และทำให้ข้าวมีคุณภาพที่ดีขึ้น ยังช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอีกด้วย ผู้บริโภคเองก็จะได้รับประทานข้าวที่มีสารอาหารเพิ่มขึ้น และปลอดภัยต่อสุขภาพ
เห็นไหม ดีทั้งต่อเราและดีต่อโลก
ดาวน์โหลดไฟล์รูปภาพทั้งหมด