17 มีนาคม 2563

ชาวนาสุพรรณบุรีกับการอยู่คู่สารเคมีอย่างมีความรับผิดชอบ

มีคำถามอยู่ในใจของชาวนาไทยหลายคนว่า ‘พวกเขาปลูกข้าวที่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีน้อยลงและมีชีวิตที่ปลอดภัยขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่’

ความเคยชินกับการใช้สิ่งเหล่านี้มานาน 20-30 ปี จนการลดปริมาณปุ๋ยเคมีและสารเคมีลงนั้น กลายเป็นการบั่นทอนจิตใจและความมั่นใจในการปลูกข้าวของชาวนาหลายคน

ชาวนาตำบลวัดดาวในชุดป้องกันสารเคมี (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
ชาวนาตำบลวัดดาวในชุดป้องกันสารเคมี (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

การเดินทางลงพื้นที่ไปทำงานในตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2563 เพื่อถ่ายทำวิดีโอประชาสัมพันธ์โครงการข้าวริเริ่มที่ดีแห่งเอเชีย (เบรีย) – การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือชื่อภาษาอังกฤษ​ Better Rice Initiative Asia – Integrated Pest Management (BRIA-IPM) เปิดโอกาสให้เราได้พบปะพูดคุยกับลุง ๆ ป้า ๆ และผู้ใหญ่บ้านตำบลวัดดาวที่อายุเพียงแค่ 30 ปีเท่านั้น

ชาวบ้านในตำบลวัดดาวส่วนใหญ่เห็นพ่อแม่ตัวเองทำนา หรือช่วยพ่อแม่ปลูกข้าวตั้งแต่ยังเด็กเสียด้วยซ้ำ แต่ระยะหลายปีให้หลัง ชาวบ้านหันมาใช้สารเคมีกันมากขึ้น เพราะใช้งานง่ายและสามารถจ้างคนงานมาฉีดแทนได้

ชาวนาจากตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
ชาวนาจากตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

ตำบลวัดดาวตั้งอยู่ในเขตอำเภอบางปลาม้าก่อตั้งเมื่อ 120 ปีก่อน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 480 ตารางกิโลเมตร หรือ 30,0000 ไร่ ตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีนตอนใต้และไม่ไกลจากอำเภอเมืองสุพรรณบุรีมากนัก โดยที่มาของชื่ออำเภอนั้นมาจากจำนวน “ปลาม้า” ที่เคยชุกชุมมากในสมัยอดีตกาล

พื้นที่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ในจังหวัดสุพรรณบุรีทำการปลูกข้าวกันเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะข้าวพันธุ์ กข 41 และข้าวหอมปทุมธานี

คุณลุงสนั่น เวียงขำ ชาวนาตำบลวัดดาวอายุ 78 ปีเล่าให้ฟังว่า ในอดีต เขาและเพื่อน ๆ ชาวนาคนอื่นปลูกข้าวและใช้สารเคมีแทบทุกชนิด ไม่ว่ายาฆ่าหญ้า หรือยาปราบศัตรูพืช เพราะออกฤทธิ์ไวและราคาไม่แพง โดยคุณลุงสนั่นเล่าให้ฟังแบบเปิดใจว่า เขาใช้สารเคมีเหล่านี้มานานแล้วด้วยความเคยชิน โดยที่ไม่รู้ว่า จำเป็นต้องใช้สารเคมีจริง ๆ ไหม หรือยาดังกล่าวได้ฆ่าแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศไปด้วย

“เราใช้ด้วยความไม่รู้ เราไม่รู้จริง ๆ นึกว่า ยิ่งใช้ ยิ่งดี ใช้เยอะแล้วข้าวจะไม่มีโรค ไม่มีแมลงมารบกวน เราก็ฉีดเต็มที่เลย ไม่เคยวางแผนอะไรหรอก จนเราเริ่มมีอาการแพ้ยา เวียนหัว หน้ามืด แทบจะฟุบกลางนา จนเราก็เริ่มคิดว่า ถ้ายังทำนาต่อไปแบบนี้เนี่ยเหมือนเราฆ่าตัวเราเองแล้ว”

คุณลุงสนั่น เวียงขำ ชาวนาอายุ 78 ปีจากตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
คุณลุงสนั่น เวียงขำ ชาวนาอายุ 78 ปีจากตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

สาเหตุมาจากปัญหาการสูดดมและสัมผัสสารเคมีเป็นเวลานาน จนเกิดการสะสมและมีผลต่อสุขภาพร่างกาย ชาวบ้านในหมู่บ้านเริ่มไม่สบาย เข้าโรงพยาบาลกันมากขึ้น ชาวนาหลายคนก็เพิ่งมาแสดงอาการเจ็บป่วยตอนมีอายุมากขึ้น เช่น โรคหัวใจ หรือโรคผิวหนัง

คุณลุงสนั่นเข้าร่วมโครงการข้าวริเริ่มที่ดีแห่งเอเชีย (เบรีย) – การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานในปี พ.ศ. 2561 พร้อมเพื่อน ๆ ในหมู่บ้าน และมีโอกาสเข้ากลุ่มเรียนรู้การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสานกับเจ้าหน้าที่ประจำโครงการจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย รวมถึงเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอ-เกษตรตำบล ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ สองอาทิตย์เป็นประจำ

กิจกรรมฝึกแยกแมลงตัวดี-แมลงตัวร้าย (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
กิจกรรมฝึกแยกแมลงตัวดี-แมลงตัวร้าย (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

“เดี๋ยวนี้ หมั่นฟังข่าวเรื่องโรคและแมลงระบาดเป็นประจำ ดูแปลงนาแทบทุกวัน ลงไปโฉบแมลงในแปลงนา แล้วมานั่งดูว่ามีแมลงชนิดใดบ้าง เป็นประโยชน์ หรือเป็นโทษ ถ้าแปลงนาเรามีแมลงที่เป็นประโยชน์มากกว่าตัวที่เป็นโทษ หรือตัวที่เป็นศัตรูข้าว เราลดปริมาณการใช้สารเคมีได้เลย เพราะแมลงตัวดีมันกินแมลงตัวร้ายเป็นอาหาร ก็ปล่อยตามธรรมชาติ” คุณลุงสนั่นเล่าให้ฟัง

การฝึกเกษตรกรแยก “แมลงตัวดี” กับ “แมลงตัวร้าย” ที่พบเจอในแปลงนาให้เป็น ถือเป็นหนึ่งในเนื้อหาของหลักสูตรการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน ชาวนาจะต้องเรียนรู้วงจรชีวิตของแมลงที่เป็นประโยชน์และที่เป็นโทษต่อข้าว โดยชาวนาต้องเดินสำรวจแปลงนาอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง โดยใช้สวิงโฉบตามเส้นทแยงมุมของแปลงนา 10 จุดระหว่างเดิน

ชาวนากำลังเดินสำรวจแมลงในแปลงนาของตนเอง (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
ชาวนากำลังเดินสำรวจแมลงในแปลงนาของตนเอง (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

หลังจากนั้น ชาวนาจะกลับมารวมตัวกันที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชน แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ทุกกลุ่มย่อยจะนำแมลงที่โฉบมาได้เทกองรวมกันไว้กระดาษสีขาวแผ่นใหญ่และช่วยกันแยกแมลงตัวดี เช่น แมลงปอเข็ม ด้วงเต่า แมงมุม และแตนเบียนต่าง ๆ กับแมลงตัวร้าย เช่น เพลียกระโดดสีน้ำตาล (ตัวนี้แสบสุด ๆ) หนอนห่อใบข้าว หนอนกอ และเพลี้ยจักจั่นสีเขียว

แต่ละกลุ่มจะช่วยกันวิเคราะห์สถานการณ์ศัตรูข้าวและวางแผนแนวทางกำจัดโดยการรูปในแผ่นกระดาษสีขาว ขั้นตอนนี้เรียกว่า “การวิเคราะห์ระบบนิเวศในนาข้าว”

สุดท้ายก็ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอหน้าชั้นเรียน โดยตัวแทนกลุ่มจะมาสรุปว่าแมลงตัวดีมีอะไรบ้าง มีจำนวนเท่าไหร่ แมลงตัวร้ายมีอะไรบ้าง มีจำนวนเท่าไหร่ สภาพอากาศและสภาพแวดล้อมอื่น ๆ เป็นอย่างไร

ในกรณีที่แมลงตัวร้ายมีจำนวนมากกว่าแมลงตัวดี ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อแปลงนา ชาวนาจึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีเข้ามาช่วยจัดการ โดยใช้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

ชาวนาในตำบลวัดดาวจับกลุ่มศึกษาแมลงตัวดี-แมลงตัวร้ายที่จับได้ในแปลงนา (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
ชาวนาในตำบลวัดดาวจับกลุ่มศึกษาแมลงตัวดี-แมลงตัวร้ายที่จับได้ในแปลงนา (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

แม้ชาวนาในหลายพื้นที่เริ่มหันมาทำนาเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น แต่คุณลุงสนั่นยอมรับว่า การเลิกใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีเด็ดขาดอาจไม่ใช่คำตอบ เลิกใช้สารเคมีไปเลยไม่ได้หรอก เพราะแมลงไม่ดีจะกินข้าวเราเสียหาย แต่เราก็พยายามลดการใช้สารเคมีนะ มีวินัยมากขึ้น ใช้ให้เป็น ใช้แค่พอดี ๆ”

แม้การลดปริมาณปุ๋ยเคมีและสารเคมีอาจส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวต่อไรลดลงบ้าง แต่รายจ่ายจากการซื้อปุ๋ยเคมีและสารเคมีก็ลดลงไปมากเช่นกัน ซึ่งเป็นที่พอใจของชาวนาในตำบลวัดดาวจำนวนมาก “ถ้าเราจำเป็นต้องใช้สารเคมี อ่านฉลากด้วยนะ ใช้ตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะได้ไม่มีสารตกค้าง คนกินจะได้สบายใจ” คุณลุงสนั่นกล่าวทิ้งท้าย

พี่สมเกียรติ กล่ำคุ้ม เจ้าหน้าที่ส่งเสริมภาคสนามเล่าให้ฟังว่า ชาวนาในตำบลวัดดาวรวมกลุ่มกันเป็นประจำและค่อนข้างเข้มแข็ง ระหว่างเข้าร่วมอบรมก็มักจะพูดคุยถกเถียงกันตลอดเวลา ตั้งแต่ระดับผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้าน หัวข้อบทสนทนามีตั้งแต่หัวข้อเรียนไปจนถึงเรื่องเม้าท์มอยทั่วไปตามประสาชาวบ้าน ซึ่งนอกจาก​จะช่วยให้ชาวนามีความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการแมลงที่ดีมากขึ้น ชาวบ้านก็สนิทสนมกันมากขึ้นอีกด้วย

พี่สมเกียรติพบปะกับชาวนาที่เข้าร่วมโครงการอยู่เป็นประจำ (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
พี่สมเกียรติพบปะกับชาวนาที่เข้าร่วมโครงการอยู่เป็นประจำ (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)

“เมื่อชาวนารู้จักการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ประโยชน์ที่เขาจะได้รับ คือ เขาลดต้นทุนจากการใช้สารเคมีในปริมาณมาก สุขภาพของชาวนาดีขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น แมลงตัวดีมีจำนวนมากขึ้น ความหลากหลายทางชีวภาพก็จะเกิดขึ้นมากมาย ถ้าชาวนาเข้าใจ IPM เขาจะผลิตข้าวได้อย่างมีคุณภาพ เพราะ IPM เริ่มต้นจากดินและน้ำ

ทุกวันนี้ ตัวเลขของชาวนาในตำบลวัดดาวที่ใช้สารเคมีด้วยความไม่รู้ลดลงทีละเล็กทีละน้อย โดยพี่สมเกียรติมั่นใจว่า ท้ายที่สุด ความไม่รู้นี้จะค่อย ๆ จางหายไปและชาวนาทั้งในตำบลวัดดาวและในพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัดสุพรรณบุรีจะใช้สารเคมีอย่างมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 2,998
  • 42,452
  • 1,567,885

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top