03 กรกฎาคม 2563

การเปลี่ยนแปลงของหุบเขาแห่งกาแฟ

“ผาเปิดใจ” ชื่อนี้อาจจะยังไม่คุ้นชินกันมากนัก แต่ถ้าเป็นเรื่องของสถานที่กางเต้นท์ หรือกิจกรรมเดินวิ่งขึ้นผาเปิดใจ อาจจะมีชื่อเสียงในหมู่ของนักท่องเที่ยวธรรมชาติ…

ผาเปิดใจ  ตั้งอยู่ที่หมู่ 20 ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ซึ่งไม่เพียงเป็นจุดชมวิวที่สวยงามของการชมพระอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งปลูกกาแฟโรบัสต้าหนึ่งของจังหวัด ถ้าย้อนไปเมื่อประมาณ 10-20 ปีก่อน ผาเปิดใจ เป็นแหล่งที่มีการปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้ากันมาก เนื่องจากสภาพอากาศ และภูมิประเทศที่เหมาะสม ทำให้กาแฟเจริญเติบโตได้ดี เมื่อถึงฤดูที่ดอกกาแฟบาน ทั้งหุบเขาที่รายล้อมไปด้วยสวนกาแฟ จะส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั่วทั้งหุบเขาจนเกิดเป็นจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกษตรกรหันมาให้ความสนใจกับพืชชนิดอื่นๆ ที่ให้ผลผลิตและราคาที่มากกว่าการปลูกกาแฟมากขึ้น  จากสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ ปัจจัยการผลิตและแรงงาน ส่งผลให้เกษตรกรลดความนิยมในการทำสวนกาแฟลง ไถทิ้งบ้างเพื่อปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนที่เป็นที่นิยมขณะนั้น  เช่น ทุเรียน ยาง ปาล์ม ทำให้พื้นที่ของสวนกาแฟลดลง

คุณหนูจันทร์  สะท้านถิ่น หนึ่งในเกษตรกรอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพรที่ยังคงปลูกกาแฟร่วมกับพืชชนิดอื่นกว่าร้อยไร่ เล่าว่า “เมื่อก่อนแถวบ้านมองไปทางไหนก็มีแต่ต้นกาแฟทั้งนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่ล้วนพึ่งพาแรงงานจากทางอีสานในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว แรงงานจากทางอีสานจะเริ่มหลั่งไหลเข้ามารับจ้างในพื้นที่เพื่อเก็บเกี่ยวกาแฟ หรือช่วยกันเองในครอบครัวบ้าง ช่วงนั้นกาแฟมีมากก็คิดว่าขายได้เงินมาก เมื่อสังคมเปลี่ยนไป วิถีการดำเนินชีวิตได้เปลี่ยน เทคโนโลยีเข้ามา ผู้คนเริ่มทยอยเข้าไปทำงานในเมือง รวมทั้งแรงงานที่เคยมีก็หายากขึ้นเพราะมีงานอื่นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า และตัวเกษตรกรเองก็ไม่ได้มีแค่กาแฟชนิดเดียว แต่มีทั้งสวนทุเรียน ปาล์ม ยาง ที่ต้องดูแล การใช้สารเคมีมากขึ้น ทำให้เกษตรกรมองแต่ที่ราคาขาย โดยไม่ได้รู้ถึงการคำนวณต้นทุนหรือกำไรที่ลงทุนไปในแต่ละปีเลย คิดแต่เพียงว่า ผลผลิตปีนี้ราคาดี คือ มีกำไร แต่เมื่อพอมีคนมาถามว่าได้กำไรหรือขาดทุนไปเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถรู้ตัวเลขได้จริงๆ”

ทำไมถึงยังปลูกกาแฟ

เพราะกาแฟเป็นพืชที่ไม่ต้องใช้สารเคมี ก็สามารถอยู่ได้ ขั้นตอนการดูแลก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแต่ต้องใส่ใจขั้นตอนการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยวเพื่อนำส่งขายให้มีคุณภาพนั้น จะมีปัญหาก็เรื่องขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างเก็บที่มีราคาสูงนี่แหละ ที่ทำให้เกษตรกรบางคนเกิดความท้อใจ เมื่อเทียบกับค่าจ้างแรงงานที่จ่ายไปกับเงินที่ขายได้

ประสบปัญหาอย่างไรบ้างในการทำสวนกาแฟ

ปริมาณผลผลิต   แรงงาน ความเสื่อมโทรมของดิน การจัดการน้ำ ปัญหาเหล่านี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ๆ เลย เพราะต้นกาแฟมีอายุมากแล้ว ก็จะให้ผลผลิตลดลง รวมถึงความเสื่อมโทรมของดินที่ได้รับการสะสมของปุ๋ยเคมีมานาน และการขาดแรงงานในการเก็บเกี่ยวทำให้ราคาค่าแรงค่อนข้างสูง

 มีวิธีจัดการปัญหาอย่างไร

ในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงาน ปริมาณผลผลิต ดินและน้ำ พี่สามารถแก้ได้ตามที่ทำได้อยู่ เช่น เพิ่มการใส่ปุ๋ย หรือใช้ชีวภาพเข้าช่วย แล้วแต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเลยคือ เวลามีคนถามว่าได้กำไรไหม พี่ตอบเขาไม่ได้ว่ามันเท่าไหร่ เพราะพี่ไม่รู้จริงๆ ว่าที่พี่ลงทุนไปมันเป็นเงินมากน้อย หรือจริงๆแล้วเงินพี่ไปอยู่ส่วนไหน แต่พอพี่ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมกับโครงการคอฟฟี่พลัส ในหลักสูตร “โรงเรียนธุรกิจเกษตร” พี่ถึงได้รู้ว่า พี่ควรจะทำอย่างไรกับสวนพี่ต่อไป เพราะไม่ใช่แค่การจัดการแปลงเท่านั้น ยังรวมถึงการคำนวณเงินทั้งในสวน ในบ้านที่ใช้จ่าย

แล้วพี่คิดว่าเมื่อเข้าอบรมแล้วมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างคะ

อย่างหนึ่งเลยที่เห็นได้ชัด พี่รู้ต้นทุน และรู้กำไร รู้ว่าปีนี้มีเงินจากพืชชนิดนี้เท่าไหร่ มีค่าใช้จ่ายทั้งค่าปุ๋ย ค่าแรงงานหรืออื่นๆ เท่าไหร่ เมื่อพี่มาวิเคราะห์ดู พี่จะสามารถทำใช้เองได้ไหม ประหยัดตรงไหนได้บ้าง เช่น การผสมปุ๋ยใช้เอง หรือการทำปุ๋ยหมักกากกาแฟที่เราสามารถทำเองได้โดยไม่ต้องไปซื้อปุ๋ยชีวภาพที่ตลาด รวมทั้งค่าใช้จ่ายครัวเรือนเราสิ้นเปลืองไปกับอะไรบ้าง สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆเลย คือ การจดบันทึก เพราะเราไม่สามารถจำได้หมดหรอกว่าเราใช้เงินไปกับอะไรบ้าง เมื่อมารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่จะต้องไปกู้ยืมเงินเขาแล้ว ถึงแม้ว่าเราเป็นเกษตรกร แต่การจดบันทึกก็สำคัญไม่แพ้งานในสวนเลยทีเดียว

มีอะไรฝากถึงผู้ที่สนใจจะเริ่มทำการปลูกกาแฟหรือที่กำลังคิดตัดสินใจเกี่ยวกับพืชนี้

กาแฟเป็นพืชที่ปลูกไม่ยาก หากเราหมั่นคอยดูแลอย่างสม่ำเสมอ ใส่ปุ๋ย บำรุงต้น ตัดแต่งแขนงให้ถูกต้อง สารเคมีแทบจะไม่ต้องใช้เลยในสวนกาแฟ เป็นการทำเกษตรแบบห่างไกลจากสารเคมี  การจดบันทึกก็สำคัญ หากเราเริ่มจดไว้ตั้งแต่เริ่มการลงทุนทำสวนจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีเพราะเราจะรู้ต้นทุนที่แท้จริง กำไรที่ถูกต้องรวมถึงวิเคราะห์สถานการณ์ของแปลงเราได้ อีกทั้งปัจจุบันกาแฟเป็นที่ต้องการของตลาด ปริมาณการผลิตภายในประเทศยังไม่เพียงพอ จึงต้องมีการนำเข้ากาแฟเป็นจำนวนมาก ถ้าพูดถึงคุณภาพและรสชาติ กาแฟที่ผลิตภายในประเทศก็สามารถสู้กาแฟนำเข้าได้ กาแฟจึงเป็นพืชที่ยังมีโอกาสที่ดีอยู่

ติดต่อเรา

  • +66 2 255 4202
  • asean-agrifood@giz.de
  • 39/1 ซอยสุขุมวิท 13, ถนนสุขุมวิท, คลองเตยเหนือ, วัฒนา, กรุงเทพฯ 10110 ประเทศไทย

การเยี่ยมชม

  • 501
  • 43,128
  • 1,582,082

สื่อและแหล่งข้อมูล

โครงการ

การป้องกันข้อมูล

สมัครจดหมายข่าว

ติดตามเรา

  • Copyright © 2014 - 2019 | Sustainable Agrifood Systems in ASEAN
Scroll to Top